ชูไทยมีข้อได้เปรียบด้านการเลี้ยง ทั้งลูกพันธุ์ อาหาร ระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับได้ อาหารปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนของโควิด-19 ที่สำคัญคือ การได้เครดิตและชื่นชมจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมโรคโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพ จากการบริหารจัดการที่ดีของรัฐ และความร่วมมือของประชาชน อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องปรับตัว/รูปแบบการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดความเสียหายจากโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง และลดต้นทุนแฝง สิ่งที่สำคัญที่สุด กุ้งเข้าโรงงาน ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ รัฐต้องช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องโรค และเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก เจรจา FTA ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้ง
สมาคมกุ้งไทย
วันที่ (16 ธันวาคม 2563) ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคม และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และ นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2563 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2563 โดยรวมอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับผลผลิตกุ้งเลี้ยง ปี 2562 ที่อยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องโรคระบาด ความไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด และสถานการณ์ราคา คาดปี 2564 ผลิตได้ 310,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ในปี 2564 ปริมาณผลผลิตและส่งออกกุ้งของไทยจะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15 % ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 15 % จากผลผลิตกุ้งไทย ปี 2563 นี้ คาดว่าจะผลิตได้รวม 270,000 ตัน ลดลงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 (โดยเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 36 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 32 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 21 และ จากภาคกลาง ร้อยละ 11 ) ปัญหาที่พบคือโรคระบาด และความไม่แน่ใจในสถานการณ์โควิด -19 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักๆ มีผลผลิตกุ้งลดลง แทบทุกประเทศ ยกเว้นเอกวาดอร์ที่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณ 135,249 ตัน มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 9 และ ร้อยละ 11 ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มราคากุ้งในปี 2564 น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการขนส่ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะที่เงินบาทแข็งค่า 11% แต่เงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า -14% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า -2% และเงินรูเปียของอินโดนีเซียอ่อนค่า -4% ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) , การควบคุมคุณภาพสินค้า เช่น ปลอดเชื้อโควิด-19, การจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น
สมาคมกุ้งไทย
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2563 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 98,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3 จากการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาเมื่อช่วงต้นปี และปัญหาอาการขี้ขาวโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน จากปัญหาโรคระบาดดังกล่าวทำให้เกษตรกรหลายรายมีการปรับรูปแบบการเลี้ยง เช่น การปรับเป็นบ่อขนาดเล็ก การใช้พีอีปูพื้นบ่อ และปล่อยความหนาแน่นบางลง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด และในปี 2564 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 นี้ 5%
นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 85,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ขนาดกุ้งเฉลี่ยใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาขี้ขาวในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึง EMS และไวรัสตัวแดงดวงขาว ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมกุ้งไทยนับว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดน้อยกว่าอาชีพอื่น และจากการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงทั้งภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูปใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของคนงาน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้สินค้ากุ้งไทยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของผู้บริโภค
นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 57,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 17 ต้นปี จ.ฉะเชิงเทราประสบปัญหาภัยแล้ง ลูกกุ้งไม่พอช่วงโควิด -19 นอกจากนี้ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ประสบปัญหาการเลี้ยงจากอาการขี้ขาวรุนแรง และโรคตัวแดงดวงขาวพบอยู่ทั่วไป ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 30,000 ตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มาจากปัญหาอาการขี้ขาว และพบโรคหัวเหลืองมากในช่วงต้นปี และฤดูหนาว
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า “การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก เราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง”

สมาคมกุ้งไทย

“ประเทศไทยและอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีความได้เปรียบ ในเรื่องภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ และการที่ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ในการควบคุมและจัดการโรคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง แต่เกษตรกรต้องผลิตกุ้งให้ได้ และต้องลดความเสียหายจากโรคให้ได้ โดยภาครัฐโดยเฉพาะกรมประมงจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยและหาแนวทางในการแก้ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะอาการขี้ขาว ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ภาครัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านการผลิตและการตลาด การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยใช้จุดเด่นที่มี คือ กุ้งคุณภาพ ระบบการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า การเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหากไทยใช้ศักยภาพเหล่านี้เต็มที่ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้งอย่างแน่นอน ” ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย กล่าวทิ้งท้าย