จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดแถลงข่าวเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ตรวจสอบบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ดีเอสไอขอเข้าตรวจค้นองค์กรสมาชิก สอบ. โดยไม่ได้มีหนังสือหมายเชิญให้ถ้อยคำ อีกทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้แสดงพฤติกรรมที่ สอบ. เห็นว่าอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น สอบ. ได้เดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อหารือและทวงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว กับ พ.ต.ท. สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีประเด็นคำถาม ดังต่อไปนี้  หนึ่ง สอบ. ต้องการทราบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ สอบ. เนื่องจากองค์กรสมาชิกที่ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบนั้น ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของ 16 องค์กรผู้บริโภคที่ถูกร้องเรียนก่อนหน้า


สอง การที่ดีเอสไปลงไปตรวจสอบองค์กรสมาชิก สอบ. อยู่ในขอบเขตอำนาจของดีเอสไอหรือไม่ เนื่องจาก สอบ. เห็นว่า หน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรสมาชิก สอบ. เป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

สาม สอบ. ต้องการทราบขั้นตอนของดีเอสไอว่ามีกระบวนการสืบสวนอย่างไรเมื่อมีผู้มาร้องเรียน และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอสามารถเข้าไปตรวจสอบในเคหสถานของประชาชน โดยไม่แสดงเอกสารคำสั่งหรือหมายค้นใด ๆ ได้หรือไม่ หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกินกว่ากรอบอำนาจหน้าที่ ดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ในประเด็นคำถามข้างต้น พ.ต.ท. สุภัทธ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเอกสารข้อร้องเรียนยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลของผู้ร้องเรียนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้อยู่แล้ว ส่วนกระบวนการสืบสวนของดีเอสไอเมื่อมีผู้ร้องเรียนจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการสืบข้อเท็จจริงมีหลายรูปแบบ ทั้งการหาข้อมูลออนไลน์ แบ่งเป็น การลงไปตรวจสอบในพื้นที่ หรือการทำหนังสือขอข้อมูล และหากมีหลักฐานว่ามีมูลกระทำความผิดทางอาญา จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวอีกว่า กรณีของ สอบ. อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเป็นคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนก่อนที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งคาดว่าการสืบสวนดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 6 – 12 เดือน (ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ไม่สะดวกต่อการลงพื้นที่)  ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ที่ลงไปตรวจสอบในพื้นที่นั้นก็ได้สอบสวนเจ้าหน้าที่รายนั้น ๆ แล้ว พบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำการนอกเหนือหน้าที่หรือเกินขั้นตอนการลงไปสืบสวนในพื้นที่ แต่เมื่อได้รับฟังข้อมูลจาก สอบ. ว่ามีเจ้าหน้าที่บางรายที่ลงพื้นที่ตรวจสอบองค์กรสมาชิก สอบ. และแสดงพฤติกรรมที่อาจจะไม่เหมาะสม อาทิ การไม่แสดงเอกสารหมายแจ้งเข้าตรวจค้น การโทรศัพท์ในเชิงข่มขู่ เป็นต้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมรับข้อทักท้วงดังกล่าวเข้าพิจารณา
.
ด้าน อารีวรรณ จตุทอง นักกฎหมาย และ อนุกรรมการพิจารณาคดีของ สอบ. ตั้งข้อสังเกตว่า ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 นั้นองค์กรที่ผ่านการรับรองการเป็นองค์กรผู้บริโภคต่าง ๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบจาก สปน. และในส่วนของจังหวัดจะต้องได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ สปน. มอบหมายก่อน  เพราะฉะนั้นหากดีเอสไอต้องการตรวจสอบที่มาของปัญหาควรต้องไปตรวจสอบจากผู้ที่ให้การรับรององค์กรผู้บริโภคเหล่านั้นแทนที่จะลงไปตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคโดยตรง ส่วนการตรวจสอบเรื่องเงินจำนวน 350 ล้านบาท ที่รัฐอุดหนุนเพื่อเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้ง สอบ. นั้น ดีเอสไอควรสอบถามไปยังสำนักงาน สอบ. ที่เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรสมาชิกเหล่านั้นมากกว่าหรือไม่

ทั้งนี้ สอบ. จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค รวมถึงในวันพรุ่งนี้ (24 พฤศจิกายน 2564) สอบ. จะเข้าหารือเรื่องดังกล่าวกับคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฏร ที่รัฐสภา