สกสว. เตรียมแถลงเชิญชวนนักวิจัย สถานศึกษา และองค์กรต่างๆ ส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อเชิดชูนักวิจัยผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมชมนิทรรศการและผลงานวิจัยพร้อมใช้ ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Act Fair 2022) วันที่ 24 มีนาคม ศกนี้
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ สกสว. เตรียมแถลงการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Act Fair 2022) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะได้รับทราบและเข้าใจถึงการปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (Thailand Research and Innovation Utilization Promotion Act : TRIUP Act) ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทำให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมในวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นฐานมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้าน ววน. โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการที่มาและประโยชน์ของ พรบ. มาตรการกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย โชว์เคสผลการวิจัย 5 โซน ประกอบด้วย ผลการวิจัยด้านการแพทย์ ด้านอาหารเพื่ออนาคต ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านเศรษฐกิจฐานราก และด้านสิ่งแวดล้อม (Low Carbon Society) รวมถึงโซนคลินิกการวิจัย และ การเทรนนิ่งการต่อยอดการวิจัย ตลอดจนการเสวนาวิชาการ กับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
โดยความร่วมมือระหว่าง สกสว. กับ หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สกสว. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ หน่วยบริหารจัดการทุน ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ องค์การอาหารและยา
อย่างไรก็ดี ในงานเดียวกันนี้ มีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูนักวิจัยผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม TRIUP Act Awards for Research Utilization with High Impact โดยเปิดให้สมัครได้ทั้ง บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กร ใน 2 สาขา คือ Deep Technology และ Appropriate Technology ส่งผลงานตั้งแต่วันนี้ จนถึงในวันที่ 8 มีนาคม 2565 และประกาศผลในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ผู้ชนะจะได้รับโล่เกียรติยศ ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. รวมเงินรางวัล 1,400,000 บาท ดังนี้
- สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)เป็นเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่เกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้ขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ลอกเลียนแบบได้ยาก โดยผลงานที่ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุน ววน. มูลค่า500,000 บาท พร้อมรับโล่เกียรติยศ และรางวัลระดับดี จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุน ววน. มูลค่า 100,000 บาท พร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ
- สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)เป็นเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่มีความง่ายในการใช้งาน มีต้นทุนที่เข้าถึงง่าย สามารถบริหารจัดการเทคโนโลยีได้ด้วยตนเองในระดับท้องถิ่น โดยผลงานที่ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุน ววน. มูลค่า500,000 บาท พร้อมรับโล่เกียรติยศ และรางวัลระดับดี จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุน ววน. มูลค่า 100,000 บาท พร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ
หมดเขตรับสมัคร วันที่ 8 มีนาคม 2565 สำหรับผู้ที่สนใจสมัครได้ที่ https://shorturl.asia/MaJet
หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 081 – 765 1674 , 096 – 071 9678