ผู้จัดการไอแบงก์ เปิดกิจกรรม CSR การอบรมเชิงปฏิบัติการ
“ความรู้ทางการเงิน สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา”
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมเทียนมณี โรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ (คลองเคล็ด) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยนายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย ผู้จัดการธนาคารและอนุกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม (CG&CSR) เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม CSR โครงการเปิดโลกการเงินอิสลาม โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ความรู้ทางการเงิน สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งมีผู้เข้าอบรมเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญกว่า 10 โรง ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและจังหวัดเพชรบุรี
นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย เผยว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำโรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ (คลองเคล็ด) ทั้งท่านอาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข ประธานบอร์ดบริหารโรงเรียนฯ และอาจารย์ไฟโรส อยู่เป็นสุข ผู้จัดการโรงเรียนฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในด้านการเงิน และให้เกียรติไอแบงก์ในการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ โดยกิจกรรมนี้สอดคล้องกับแผนงาน CSR ประจำปี 2561 ภายใต้โครงการเปิดโลกการเงินอิสลามที่คณะอนุกรรมการ ธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม (CG&CSR) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินทั้งในระดับบุคคลและระดับสถาบันการศึกษา และที่สำคัญเพื่อสร้างความตระหนักและเสริมความเข้าใจหลักการเงินอิสลาม ซึ่งครู ถือผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตประจำวันแก่นักเรียนและชุมชนต่อไป
การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดโดยบุคลากรของไอแบงก์ ซึ่งเป็นจิตอาสาที่มีความรู้และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคม การอบรมดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าอบรมหัวข้อเรื่อง “การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล”และเรื่อง “การวางแผนทางการเงินของสถาบันการศึกษา” เพื่อให้ครูได้เห็นภาพรวมรายได้วางแผนทางการเงินของตนเองอย่างง่ายๆ และการวางแผนทางการเงินของสถาบันการศึกษา ต่อด้วยแบ่งกลุ่ม Workshop ฝึกทักษะการวางแผนทางการเงินของสถาบันการศึกษา ช่วงบ่ายอบรมเรื่อง “เศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม” และ เรื่อง “การนำหลักการเงินอิสลามในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการของธนาคาร” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการทำธุรกรรมการเงินแบบอิสลาม ปิดท้ายก่อนจบด้วย Workshop เสริมทักษะการประยุกต์ใช้หลักการเงินอิสลามในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆของธนาคาร ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะครูอาจารย์โรงเรียนต่างๆที่เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างมาก