กรุงเทพฯ – นาโอส (NAOS) ผู้นำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปรนนิบัติผิวด้วยศาสตร์ ECOBIOLOGY เพื่อการดูแลผิวแบบองค์รวมจากประเทศฝรั่งเศส ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ NAOS CARE เพื่อให้สอดคล้องต่อปณิธานของบริษัท คือดำเนินธุรกิจด้วย ความรัก ความเข้าใจ และความห่วงใย ทั้งต่อพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ สังคมและโลกของเรา นาโอส จึงไม่ได้เพียงแค่คำนึงถึงการมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเท่านั้น หากยังต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นไปด้วย ตามหลัก 3P คือ Product, People, Planet
เภสัชกรหญิงวัลภา รัตนชัยพิพัฒน์ ผู้บริหาร บริษัท นาโอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นาโอส ดำเนินธุรกิจตามหลัก 3P อันประกอบด้วย Product, People, Planet โดยในมิติของ Product (ผลิตภัณฑ์) นั้น นาโอสได้คิดค้นนวัตกรรมด้วยศาสตร์ที่เรียกว่า “ECOBIOLOGY” หรือ “ชีวนิเวศวิทยาของผิว” เพื่อการดูแลผิวอย่างสมบูรณ์แบบทั้งการดูแลสุขภาพผิวให้แข็งแรง การส่งเสริมความงามอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น (Health, Beauty, Well-being) ปกป้องระบบการทำงานของผิว สนับสนุนให้เกิดสมดุลแก่ระบบนิเวศของผิว เพื่อให้องค์ประกอบที่หลากหลาย อาทิ เซลล์ผิว เอนไซม์ ฮอร์โมน หลอดเลือด เส้นประสาท ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยแบรนด์สกินแคร์ของ NAOS ภายใต้แนวคิดดังกล่าวในปัจจุบันประกอบด้วย BIODERMA, INSTITUT ESTHEDERM และ ETAT PUR นอกจากนี้การที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย นาโอส จึงได้ริเริ่มโปรเจค NAOS AGING SCIENCE ขึ้น เพื่อสรรสร้างนวัตกรรมชะลอวัยที่ออกฤทธิ์อย่างตรงจุดปัญหาผิว โดยร่วมมือกับ Miroslav Radman ศาสตราจารย์นักชีวพันธุศาสตร์ ผู้ก่อตั้งสถาบัน MEDITERRANEA INSTITUTE FOR LIFE SCIENCES (MedILS) ประเทศโครเอเชีย สถาบันวิจัยนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นงานวิจัยศึกษากระบวนการซ่อมแซมดีเอ็นเอในร่างกายลึกถึงระดับโมเลกุล จากผลงานวิจัยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี นำมาสู่ความรู้ล่าสุดเพื่อการชะลอวัยของผิว ด้วยการปกป้องโปรทีโอมในผิว และนำมาซึ่งการคิดค้นเทคโนโลยีชะลอสัญญานแห่งวัยในทุกๆ กระบวนการของผิวหนัง
“ในมิติด้าน People (มนุษย์) นาโอส ยึดหลักส่งเสริมการทำงานอย่างมีจริยธรรม ทั้งยังได้ก่อตั้ง Shareholder foundation ภายใต้ 2 วัตถุประสงค์หลัก คือ มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องต่อปณิธานด้าน Human Care และสนับสนุนโครงการเพื่อมนุษยธรรมต่างๆ ผ่านกองทุนของบริษัทอาทิ โครงการ Bioderma Solidarity Mission เพื่อช่วยเหลือเด็กและชุมชนในเวียดนามและกัมพูชาให้สามารถเข้าถึงสุขอนามัยและการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น และโครงการ Naos Village เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงด้านอาหาร การศึกษา และที่อยู่ให้แก่ชุมชนในจังหวัด Dharni ของประเทศอินเดีย” เภสัชกรหญิงวัลภา กล่าวเสริม “ส่วนมิติสุดท้ายคือ Planet(โลกและสิ่งแวดล้อม) นั้น เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับองค์กรส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ อาทิ โครงการAquatic ecosystem การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล สามารถย่อยสลายได้ในน้ำ ไม่ตกค้าง และไม่มีสารที่ทำลายสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ โดย นาโอส ได้รับเครื่องหมาย AQUATIC ECOSYSTEM TESTED ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ผลิตภัณฑ์ของเราได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงโครงการ Andromède Océanologie เพื่อการปกป้อง Posidonia meadows ซึ่งเป็นพืชใต้ทะเลในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ที่เปรียบเสมือนปอดของทะเล สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชใต้ทะเลอื่นๆ ถึง 4-5 เท่า และเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนในท้องทะเล โครงการการลดการใช้พลาสติก โดยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อกลยุทธ์ 4R คือ Reduce Reuse Recycle Replace ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์นาโอส จะสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 100% และลดปริมาณการใช้พลาสติกลงถึง 20% นับตั้งแต่ปี 2018 นาโอส ไม่มีส่วนประกอบของเม็ดพลาสติกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องล้างน้ำออก ปัจจุบัน นาโอส เป็น 1 ใน 71 บริษัทสมาชิกในกลุ่มเครื่องสำอางระดับโลก ที่เข้าร่วมองค์กร EcoBeautyScore Consortium เพื่อร่วมกันจัดทำเกณฑ์การให้คะแนนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในรูปแบบและระบบเดียวกัน ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมจะต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ ในไทย นาโอส ได้ดำเนินการโครงการ NAOS CARE มาอย่างต่อเนื่องในปี โดย พ.ศ. 2562 ได้บริจาคผลิตภัณฑ์ ATODERM INTENSIVE BAUME มูลค่ารวม 140,000 บาท ให้แก่สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยโรคภูมิแพ้และอิมมูนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ NAOS CARE ในประเทศไทย ได้มีการจัดโครงการ “Saving Skin And More…มากกว่าการดูแล คือการส่งต่อความห่วงใย” เชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมแบ่งปันน้ำใจแก่ผู้ป่วยมะเร็ง โดยทุกการซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวไบโอเดอร์มาในกลุ่ม ATODERM 1 หลอดเท่ากับการร่วมส่งมอบผลิตภัณฑ์ ATODERM 1 หลอดให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อช่วยดูแลสุขภาพผิวของผู้ป่วยที่มักแห้งและมีภาวะอ่อนแอ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมียอดบริจาคผลิตภัณฑ์ ATODERM INTENSIVE BAUME จำนวนทั้งสิ้น 300 หลอด รวมมูลค่า 285,000 บาท โดยทีมผู้บริหาร นาโอส ประเทศไทย ได้มอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับสาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับโครงการ NAOS CARE ในประเทศไทยในปีนี้ ได้มอบทุนสมทบงานวิจัยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังเพื่อสุขภาพผิวที่ดีและแข็งแรงอย่างยั่งยืน โดยการมอบทุนดังกล่าวสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เกี่ยวกับงานวิจัย อาทิ สารสำหรับการทดสอบในเครื่องมือวิจัย การซ่อมแซมเครื่องมือวิจัย การซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้ในงานวิจัยต่างๆ เป็นต้น
“ปี 2566 โครงการ NAOS CARE ในประเทศไทยได้มอบทุนสมทบงานวิจัยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังเพื่อสุขภาพผิวที่ดีและแข็งแรงอย่างยั่งยืนให้แก่โรงเรียนแพทย์ 3 สถาบัน ได้แก่ งานวิจัยด้านผื่นแพ้สัมผัส ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, สาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้กับนิสิตเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 ทุน และทุนการศึกษาบางส่วน 1 ทุน สำหรับภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2567 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของไทย โดยได้สนับสนุนเงินทุนรวมทั้งสิ้น 173,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการ “สร้างน้องเก่ง ให้ชาติแกร่ง” ร่วมกับ บู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) มอบเงิน 10 บาทจากยอดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดกลุ่ม ATODERM ทุกขวดที่จำหน่ายที่ร้านบู๊ทส์ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนและสันทนาการให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองประโยชน์ จ.ฉะเชิงเทรา” เภสัชกรหญิงวัลภา กล่าวสรุป