กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัวโครงการ “เวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จับมือภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย คณะผู้เชี่ยวชาญ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ คัดเลือกสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อคว้ารางวัลเกียรติยศสูงสุดถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ผลิตสื่อน้ำดี มีคุณภาพ และสร้างสรรค์สังคมเชิงบวก
ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า ผู้คนเข้าถึงสื่อได้ง่ายในทุกช่องทาง ในขณะที่เราก็พบเห็นข่าวที่ไม่สร้างสรรค์เกิดขึ้นมาก เช่น เว็บการพนัน เว็บลามก การสร้างข่าวปลอม คลิปความรุนแรง และการปั่นกระแสข่าวต่างๆ ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทางภาครัฐเองได้เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยโดยอาศัยกฎเกณฑ์ มาตรการทางกฎหมายต่างๆ เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล เช่น การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อสังคมปัจจุบัน เพราะสามารถเปิดดูย้อนหลังได้ จึงเห็นว่า ควรมีการกํากับดูแลสื่อในเชิงบวกที่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้ผลิตสื่อ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการผลิตสื่อน้ำดีที่สอดคล้องตามกฎหมาย และสร้างคุณค่าต่อสังคมด้วยความสมัครใจ
“เวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นงานที่มีความตั้งใจยกย่องเชิดชูเกียรติคนทำสื่อดี สื่อที่มีคุณภาพ ให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม เพื่อให้สื่อที่ดีเหล่านี้มีแรงบันดาลใจไปสร้างคุณค่าให้กับสังคม เกิดความสามัคคี และพึ่งพากันในทางสร้างสรรค์นวัตกรรม มีสาระที่ดีงาม ซึ่งเป็นสาระที่แตกต่างจากรางวัลอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการสร้างกำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้ผลิตสื่อ ได้มีความภาคภูมิใจ และมีแนวโน้มในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน และสังคม ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้” ดร.ยุพา กล่าว
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กระบวนการคัดเลือกของเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยึดหลักด้านคุณธรรมและจริยธรรม สอนให้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้มีการยอมรับ เข้าใจ และชื่นชมความหลากหลายในสังคม รวมถึงต้องส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล นอกจากนั้น ต้องมีกระบวนการผลิตที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์สื่อ เข้าถึงประชาชนได้อย่างตรงกลุ่ม ซึ่งเราคาดหวังว่า หลักเกณฑ์เหล่านี้จะถูกนำไปประยุกต์สู่การเปิดพื้นที่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม เพื่อสร้างสังคมเชิงบวกให้เกิดขึ้นในอนาคต
ดร.ธนกร กล่าวว่า กระบวนการคัดสรรมี 3 รอบด้วยกัน รอบแรก กองทุนสื่อฯ ได้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง ในสาขานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และด้านการสื่อสาร ทำการคัดเลือกสื่อประเภทต่าง ๆ ได้แก่ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อบุคคล สื่อท้องถิ่น สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อในโครงการผู้รับทุนของกองทุนสื่อฯ จํานวน 683 ผลงาน จากนั้นคัดเลือกเหลือ 141 ผลงาน เพื่อนำเสนอต่อคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ในรอบที่ 2 และนำเสนอคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณากลั่นกรองในรอบที่ 3 จนได้ผู้ชนะเลิศในแต่ละสาขา จำนวน 13 รางวัล
สำหรับไฮไลท์ของเวทีนี้ คือ การมอบถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดของผู้ที่ชนะเลิศในแต่ละสาขา จำนวน 13 รางวัล สำหรับรองชนะเลิศในแต่ละสาขา จำนวน 39 รางวัล จะได้รับโล่รางวัลจากประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ จำนวน 97 ผลงาน จะได้รับประกาศนียบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้คาดว่า จะสามารถประกาศผลงานทั้งหมดได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 และจะจัดพิธีมอบรางวัล และถ้วยรางวัลพระราชทาน ตามลำดับต่อไป