นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานสถานการณ์ PM2.5 วันที่ 12 เมษายน 2565 ภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงพบเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สรุปดังนี้ ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 29 – 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก/ลบ.ม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 59 – 126 มคก/ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 26 – 72 มคก/ลบ.ม. ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 25 – 53 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ตรวจวัดได้ 13 – 27 มคก/ลบ.ม. สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดได้ 32 – 78 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ ศกพ. ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล ช่วงวันที่ 13 – 19 เม.ย. ภาพรวมจะมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิด และไม่มีสภาพอากาศนิ่งในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ควรเฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงวันที่ 18 – 19 เม.ย. 65 หากมีจุดความร้อนจำนวนมาก สถานการณ์ฝุ่นละอองอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่าง “ฝั่งตะวันออก” เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาพอากาศนิ่ง และการยกตัวของอากาศที่ไม่ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนมีสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ สำหรับในเขตเมืองดัง เช่น กรุงเทพมหานคร มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากการขนส่งทางถนน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ รวมถึงแหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ โดยได้กำหนดให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 11 เมษายน 2565 ได้มีการตรวจควันดำทั่วประเทศ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบจำนวน 164,560 คัน เกินมาตรฐาน 46,176 คัน ห้ามใช้ 682 คัน ร่วมตรวจโดยกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก คพ. และ กทม. สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบจำนวน 82,096 คัน เกินมาตรฐาน 1,165 คัน และห้ามใช้ 1,165 คัน ร่วมตรวจโดย สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ตำรวจภูธร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษและแก้ปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ โดยได้ออกประกาศเรื่องกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 กำหนดค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 45 และค่ากระดาษกรองไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 นี้ จึงขอแจ้งผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชน ให้ดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างสม่ำสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 และเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด นายอรรถพล กล่าว