กระทรวงโยธาธิการและการเคหะ (PUPR) และสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาการ์ตา (JFCC) ร่วมกันจัดการอภิปรายภายใต้กรอบการประชุมน้ำโลก (World Water Forum หรือ WWF) ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “ถนนสู่การประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10: นโยบาย เทคโนโลยี และโอกาสการลงทุนในการจัดการทรัพยากรน้ำ” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา
เอนดรา ซาเลห์ อัทมาวิดจาจา (Endra Saleh Atmawidjaja) ที่ปรึกษาพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการเคหะของสาธารณรัฐอินโดนีเซียด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานว่า “เป็นเกียรติสำหรับอินโดนีเซียที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 และเป็นผู้นำในการประเมินปัญหาน้ำทั่วโลก เรามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความอิสระ และความเจริญรุ่งเรืองในแง่ของการมีแหล่งน้ำ” ืการอภิปรายครั้งนี้ประกอบด้วย ยูน-จิน คิม (Yoon-jin Kim) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10, ฟิรเดาส์ อาลี (Firdaus Ali) ที่ปรึกษาพิเศษของรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและการเคหะด้านทรัพยากรน้ำ, อัสแมน คันซอง (Usman Kansong) อธิบดีด้านสารสนเทศและการสื่อสารสาธารณะ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ, อิหม่าม ซานโตโซ (Imam Santoso) ผู้อำนวยการบริษัทเปรุม จาซา เตอร์ตา ทู (Perum Jasa Tirta II), ระห์หมัต ฮิดายัต (Rachmat Hidayat) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการรัฐบาล บริษัทดานอน อินโดนีเซีย (Danone Indonesia) และชินตา คัมดานิ (Shinta Kamdani) ประธานสมาคมนายจ้างแห่งอินโดนีเซีย (APINDO)
คุณฟิรเดาส์ อาลี กล่าวว่า “รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาภาคทรัพยากรน้ำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างเขื่อน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 57-59 ลบ.ม. ต่อคนต่อปี” นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่าความท้าทายหลักในภาคส่วนทรัพยากรน้ำคือการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ สมาคมนายจ้างแห่งอินโดนีเซีย บริษัทเปรุม จาซา เตอร์ตา ทู และบริษัทดานอน อินโดนีเซีย ต่างเห็นพ้องกันกับทางกระทรวงโยธาธิการและการเคหะว่า ภาคเอกชนและภาครัฐจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใหม่ในการจัดตั้งการจัดหาเงินทุนและการลงทุนด้านน้ำอย่างยั่งยืน
คุณชินตา คัมดานิ ประธานสมาคมนายจ้างแห่งอินโดนีเซีย อธิบายว่า “มีเงื่อนไขสามประการในการสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดหาเงินทุนด้านน้ำอย่างยั่งยืน ได้แก่ ความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน รูปแบบความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และความยั่งยืนของความร่วมมือ” เธอยังกล่าวอีกว่า นโยบายและแรงจูงใจของรัฐบาลยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเงินทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ในคำแถลงปิดท้าย คุณยูน-จิน คิม ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมที่กำลังจะจัดขึ้น เพื่อประเมินกลยุทธ์เชิงปฏิบัติและแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านน้ำทั่วโลก
ติดต่อ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการจัดงานระดับชาติ การประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 [email protected]