สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงาน และนายปฏิวัติ ทิวะศะศิธร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโรงกลั่น กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน นายเสรี อนุพันธนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมในงาน โดยผลประกาศรางวัลครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจการตลาดของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ TQA และ TQC ตามลำดับ
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นองค์กรเดียวได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ในปี 2565 และถือเป็นครั้งแรกของบริษัท บางจากฯ ที่ได้รับรางวัลระดับ TQA ซึ่งก่อนหน้านี้ ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันของบางจากฯ ได้รับรางวัล Thailand Quality Class Plus: Innovation (TQC + Innovation 2020) ในปี 2563 จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลสูงสุดรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ในปี 2565 ที่แสดงถึงศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศ ทัดเทียมระดับสากล ขณะที่กลุ่มธุรกิจการตลาด ได้รับการประกาศผลรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) โดยเป็น 1 ใน 6 องค์กรที่ได้รับรางวัลนี้ และได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) เป็นรางวัลอันทรงเกียรติซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศใน การบริหารจัดการขององค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Baldrige National Quality Award (BNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
เกณฑ์รางวัลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินองค์กรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทและทุกขนาด เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในหลายด้าน อาทิ ด้านนวัตกรรม ด้านสมรรถนะ และด้านผลิตภาพ ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรไทย เป้าหมายของรางวัลคุณภาพแห่งชาติยังครอบคลุมการให้ความสำคัญด้านการกำกับดูแลองค์กรและการตอบแทนสังคม (Governance and Societal Contributions) เพื่อสนองต่อนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับต่อชุมชน และพร้อมด้วยศักยภาพที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต