ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP คิกออฟกิจกรรม “ขยะดี มีค่า” จัดอบรมให้ความรู้แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว และบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ครูและนักเรียนได้มีความรู้และเข้าใจการคัดแยกขยะถูกต้อง เปลี่ยนขยะให้มีค่า สร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติในการแก้ปัญหาขยะชายฝั่งและขยะทะเล
   
ศูนย์ FLEC จับมือ CPF และ GEPP สอนแรงงานข้ามชาติคัดแยกขยะ มุ่งสู่ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจรนางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยจากการบริโภคมากขึ้น ในการดำเนินงานโครงการ “ศูนย์ FLEC” ในระยะที่ 2 (2564-2568) นอกจากสร้างเครือข่ายป้องกันการค้ามนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว  ศูนย์ FLEC ได้เพิ่มการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัวเข้าในการจัดการปัญหาขยะในชุมชนแบบครบวงจร ในพื้นที่พักอาศัยของแรงงาน รวมถึงพื้นที่และชุมชนบริเวณท่าเทียบเรือสงขลา ตามเป้าหมายการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้แก่แรงงานประมงและครอบครัว โดย ซีพีเอฟ และ GEPP สตาร์ทอัพไทยที่เชี่ยวชาญชำนาญจัดการขยะ ร่วมจัดโครงการ “ขยะดี มีค่า” อบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นของมีค่า ให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แกนนำแรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมทั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 อ.เมือง จ.สงขลา มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจการคัดแยกขยะ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะในชุมชน พร้อมนำร่องจัดกิจกรรมรับแลกขยะเพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล   ส่งเสริมให้แรงงานประมงเห็นคุณค่าของขยะ มีส่วนร่วมช่วยกันจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นำไปสู่การสร้างสุขลักษณะที่ดี และการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
“การจัดกิจกรรมขยะดี มีค่า ได้รับความสนใจจากแรงงานข้ามชาติและครอบครัวได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ประเภทต่างๆ อาทิ ขวดพลาสติก กระดาษลัง ขวดแก้ว อะลูมิเนียม นำมาแลกกับสินค้าบริโภคที่จำเป็น เช่น น้ำมันพืช น้ำปลา ปลากระป๋อง สบู่ โดยกิจกรรมรับแลกขยะที่จัดขึ้นครั้งแรกศูนย์ FLEC สามารถรวบรวมขยะที่รีไซเคิลได้ถึง 500 กิโลกรัม และนำรายได้จากการจำหน่ายขยะมาใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการต่อไป” นางสาวนาตยากล่าว

ศูนย์ FLEC ตั้งเป้าหมายให้โครงการ “ขยะดี มีค่า” และการจัดกิจกรรมรับแลกขยะ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและกระตุ้นให้แรงงานข้ามชาติช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องจัดการให้เหลือน้อยที่สุด โดยศูนย์ FLEC จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและดำเนินการรับแลกและจดบันทึกปริมาณขยะที่รวบรวมได้ และขยายเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างมูลค่าจากขยะ เพื่อนำไปสู่การเป็นต้นแบบชุมชนแรงงานประมงข้ามชาติที่มีการจัดการขยะแบบครบวงจร และขยายผลยังชุมชนบริเวณรอบๆ ท่าเทียบเรือประมง และชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดสงขลาต่อไป