นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ร่วมด้วยนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายจงคล้าย วรพงศธร
รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายกมลชัย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงราย ทีมกู้ภัยของประเทศไทยและต่างประเทศ ประชาชนนักท่องเที่ยวกว่า 500 คน เข้าร่วมงานด้วย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่อช.ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อรองรับการเข้ามาเยี่ยมชมและมาใช้บริการของนักท่องเที่ยว ซึ่งอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) เดิมเป็นวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2561 นักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี่ แม่สาย จำนวน 13 คน ได้พลัดหลงภายในถ้ำหลวง ในช่วงระหว่างปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยดังกล่าว เป็นประวัติศาสตร์ของการช่วยเหลือ ที่มีชื่อเสียงลือลั่น ก้องโลก จึงทำให้เป็นแหล่งที่ผู้คนให้ความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ในสถานที่และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้พิจารณาบริเวณพื้นที่ที่จะดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน โดยสำรวจพื้นที่ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) กรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมกิจการพลเรือนทหารบก กองทัพบก ได้เนื้อที่รวมประมาณ 12,000 ไร่ หรือ 19.2 ตร.กม. ครอบคลุมท้องที่ตำบลห้วยไคร้ ตำบลโป่งผา ตำบลโป่งงาม และตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
จากการยกฐานะความสำคัญของพื้นที่จากวนอุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งนำมาถึงการพัฒนายกระดับมาตรฐานอุทยานแห่งชาติของไทยไปสู่ระดับสากล โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีการบริการที่ดีกับนักท่องเที่ยวมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการปกป้องฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)
โดยอุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการ ของนักท่องเที่ยว โดยได้จัดทำป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ด้วยแนวคิดการนำลักษณะของภูมิประเทศที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จึงจำลองเป็นเทือกเขาดอยนางนอน โดยใช้เทคนิคปูนปั้นหินเทียม ซึ่งป้ายมีขนาดความยาว 30 เมตร สูง 5 เมตร เพื่อสร้างเป็นจุดแลนด์มาร์ก จุดเช็คอินแห่งใหม่ ของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และได้มีพิธีเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนขึ้น ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2562 โดยได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีนายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ
ทั้งนี้ ในการจัดงานดังกล่าวได้มีการตรวจ ติดตาม ความก้าวหน้าการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ในบริเวณถ้ำหลวงและขุนน้ำนางนอนด้วย