กรุงเทพฯ – ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ผสานพลังระดมสมองเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี “4 แนวทาง เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” บูรณาการพิชิต Net Zero ปี 2065 1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากวัสดุที่ใช้แล้ว นำร่อง 3 อุตฯหลัก บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์-ก่อสร้าง 3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยีลดคาร์บอน แหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม มั่นใจ 4 ข้อเสนอนี้สร้างเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลกระทบที่เร็วและรุนแรงขึ้นต่อทุกชีวิตในโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เอสซีจีจึงเชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ระดมสมองหาแนวทางกู้วิกฤตดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ทุกภาคส่วนอยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริง จึงเสนอ 4 แนวทางความร่วมมือ ได้แก่ 1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้มี 3 อุตสาหกรรมต้นแบบแล้วคือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ก่อสร้าง การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ร่วมขยายผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัดจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้สะดวก อาทิ เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด (Energy Storage System) และส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวมวล ขยะจากชุมชน พืชพลังงาน 4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนบูรณาการตามข้อเสนอจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำสร้างความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG”
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า “เราจะร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำที่เป็นฐานไปสู่การเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย ความท้าทายอยู่ที่จังหวัดสระบุรีเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสม หากเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำหรือ Net Zero ได้สำเร็จ ซึ่งการเป็นได้นั้นต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วนจากการทำงานนี้จะเป็นรูปแบบและบทเรียนให้จังหวัดอื่นๆ ทำได้เช่นกัน การจะทำให้ภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ลงทุนให้ใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้พัฒนาส่งเสริมการใช้งานและส่งออกสินค้ากรีน เช่น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ Bio Energy Pallet ภาคการเกษตร เปลี่ยนเป็นเกษตรยั่งยืน เช่น ทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ ลดต้นทุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งปลูกหญ้าเนเปียร์และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ช่วยลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้ชุมชน ร่วมปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัดเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับคาร์บอน และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน”
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จ เช่นในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ได้นำร่องจนเกิดผลสำเร็จแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ทั้งนี้ การขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานคัดแยก จัดเก็บขยะให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนสร้าง Eco System สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้ง รณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย”
นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สระบุรี กล่าวว่า “ก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 70 ในประเทศไทยมาจากภาคพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงต้องเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอนสูงมาสู่พลังงานสะอาด โดยร่วมกันปลดล็อกข้อจำกัด เพื่อยกระดับความมั่นคงทางพลังงานและยั่งยืนในประเทศ และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ทั้งภาครัฐ เอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงและใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด ให้มีประสิทธิภาพสูง ราคาเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตให้เป็น New S-Curve ตลอดจนสนับสนุนการใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี อีกทั้ง พัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ ให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจนพืชพลังงาน ขยะชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้ใช้พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพิ่มจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2050”
นางสาวจิตใส สันตะบุตร คนรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia กล่าวว่า “ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ขาดทรัพยากร และความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว ได้แก่ SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน เราควรแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลือตามความต้องการอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีมากถึง 52 ล้านล้านบาท โดยขอเสนอให้ไทยตั้งเป้าขอรับเงินสนับสนุนโครงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปีละ 350,000 ล้านบาท เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้ปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้”
“ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือบูรณาการกันอย่างแท้จริง ไม่มองเป้าหมายแค่เพื่อตัวเอง หรือเป้าหมายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และโลกของเรา ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนแก้วิกฤติโลกเดือด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอนเป็นจริงได้แน่นอน” คุณธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 1,500 คน โดยมีวิทยากรระดับโลก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลาย ชมนิทรรศการความร่วมมือและนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก ผู้สนใจรับชมออนไลน์ได้ที่ Facebook และ Youtube ของ SCG ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เวลา 12.00-17.15 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.scg.com