ท็อดด์ สเติร์น (Todd Stern) อดีตผู้แทนพิเศษของสหรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ปี 2565 นั้นมีความผิดปกติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งรุนแรงจนทำให้เกิดความอดอยากในแถบจะงอยแอฟริกา ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่แผ่ไปทั่วยุโรป และภัยน้ำท่วมในเอเชีย ปี 2565 ทำให้โลกได้รู้จักกับ “สัญญานเตือนภัยสีแดง” ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวขึ้นเป็นผู้นำการกำกับดูแลสภาพอากาศในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น พร้อมเชิญชวนให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการหลอมรวมระหว่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อื่น ๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ปล่อยมลภาวะสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน

พันธมิตรมหาวิทยาลัยว่าด้วยสภาพอากาศ (Global Alliance of Universities on Climate หรือ GAUC) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อส่งเสริมบทบาทผู้นำระดับอุดมศึกษาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ปัจจุบัน พันธมิตรมหาวิทยาลัยว่าด้วยสภาพอากาศประกอบด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 15 แห่งจาก 9 ประเทศ 6 ภูมิภาค โดยการเปิดตัวแคมเปญ “Climate x” มีเป้าหมายเพื่อมอบโซลูชันอย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลสภาพอากาศทั่วโลก และช่วยส่งเสริมความสำเร็จของการประชุม COP27 ด้วยการเตรียมความพร้อมให้เยาวชน ส่งเสริมการผนึกกำลัง และสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ

อมินา เจ โมฮัมเหม็ด (Amina J. Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเปิดแคมเปญว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่ง สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ไปจนถึงธรรมชาติ ล้วนถูกคุกคาม ปัญหาอันใหญ่หลวงที่หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญนั้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก และต้องใช้วิธีแก้ปัญหาในระดับโลก แคมเปญ “Climate x” มีจุดมุ่งหมายที่แสดงให้เห็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมในเรื่องนี้”  แคมเปญดังกล่าวผสานรวมจุดแข็งของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีโครงสร้าง 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ โครงการระดับประเทศอย่างโครงการนำร่องเพื่อบ่มเพาะความเป็นผู้นำ ‘Climate x’ ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยมหาวิทยาลัยซิยอง โป ในกรุงปารีส และมหาวิทยาลัยชิงหวาในกรุงปักกิ่ง, อีเวนต์ระดับภูมิภาคของการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศประจำภูมิภาคแอฟริกา โดยมหาวิทยาลัยสเตลเลนบอช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในแอฟริกาที่เป็นสมาชิกพันธมิตรมหาวิทยาลัยว่าด้วยสภาพอากาศ ไปจนถึงอีก 3 อีเวนต์ในระดับนานาชาติ ได้แก่ สัปดาห์สภาพอากาศเยาวชนโลก การประชุมสุดยอด GAUC Climate x และอีเวนต์ระดับสูง GAUC COP27

เยาวชนมีบทบาทสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาท้าทายที่ส่งผลกระทบยาวนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้เยาวชนเป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างอนาคตที่ปล่อยมลภาวะสุทธิเป็นศูนย์  ก่อนเปิดแคมเปญดังกล่าวอย่างเป็นทางการนั้น โครงการนำร่องที่ว่านี้ได้เปิดรับนักศึกษากว่า 150 รายจากมหาวิทยาลัยในเครือ GAUC และบ่มเพาะนักศึกษาเหล่านี้ เพื่อสร้างทูตเยาวชนกลุ่มแรกให้กับ GAUC นักศึกษาเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น 21 กลุ่มซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสาขาวิชา โดยได้คิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาอย่างก้าวล้ำ ไม่ว่าจะในรูปแบบเกมดิจิทัลและแอปพลิเคชันมือถือ ไปจนถึงการอภิปรายหมู่และการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งจะนำมาโปรโมทตลอดแคมเปญ

การรวมพลังคือสิ่งสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDG ทุกข้อ และมีอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ต้องอาศัยการรวมพลังในการปฏิบัติตามความตกลงปารีสและวาระการพัฒนา 2030 (2030 Agenda) เพื่อสร้างอนาคตที่ปล่อยมลภาวะสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน GAUC ได้นำประเด็นร้อนแรงระดับโลกมาประเมิน จนสรุปภาคส่วนที่น่าสนใจเพื่อนำมาผสานรวมกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปี 2565 ได้ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ พลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคง, การเงิน, ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และอาหาร ไปจนถึงความยืดหยุ่น  ส่วนอีเวนต์ระดับภูมิภาคประจำแคมเปญนี้อย่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศประจำภูมิภาคแอฟริกา (African Regional Forum on Climate Change) หรือ ARF จะเป็นอีเวนต์แบบไฮบริด ตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายน 2565 ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของอาหารและน้ำ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พลังงานที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้ ไปจนถึงผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีต่อผู้คนและภาคธุรกิจ การประชุม ARF จะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเปิดฉากเวที COP27 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มรวมสถาบันและผู้มีบทบาทในแวดวงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และนำผลลัพธ์ที่ได้ไปยกระดับสังคมและนโยบายในแอฟริกา

เชิญชวนสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยในปี 2564 การประชุมสุดยอด Climate x Summit ของทางกลุ่มพันธมิตรฯ ดึงดูดผู้เข้าร่วมได้กว่า 1.25 ล้านรายทั่วโลกระหว่างงาน COP26 ส่วนในปี 2565 นั้น โครงสร้าง 3 ระดับของแคมเปญ Climate x นี้คาดว่าจะทำให้เข้าถึงผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้นอีก  ในพิธีเปิดนั้น พันธมิตรมหาวิทยาลัยว่าด้วยสภาพอากาศได้ส่งคำเชิญถึงองค์กรและสถาบันทั่วโลก เพื่อร่วมริเริ่มสัปดาห์สภาพอากาศเยาวชนโลก (Global Youth Climate Week) ซึ่งจะมีขึ้นก่อนการประชุม COP แต่ละครั้ง โดยเป็นกลไกที่ทาง GAUC ได้เสนอต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อทำหน้าที่ประสานการทำงานของเยาวชน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้น ในการนี้ คุณแพทริเซีย เอสปิโนซา (Patricia Espinosa) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ UNFCCC ได้กล่าวชื่นชมว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเข้ามามีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าของ UNFCCC ด้วยการขับเคลื่อนและกำหนดมาตรฐานให้กับผลงานที่เยาวชนทั่วโลกได้สร้างไว้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GAUC ได้ที่ https://gauc.net/