เมื่อวันที่ 7 – 9 ตุลาคม 2562 พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายวรวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 15 พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการประชุมอื่นๆ ได้แก่ การประชุมประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียน เรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียน , การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนและญี่ปุ่น , การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม+3 (ญี่ปุ่น เกาหลี จีน) ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
โดยมีประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ได้แก่ การพิจารณารับรองพื้นที่คุ้มครองในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park) ในวาระที่ 8.1 ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 2 แห่ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกอาเซียน ประกอบด้วย 1) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง 2) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นลำดับที่ 45 และ 46 ในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นมรดกอาเซียน ในลำดับที่ 5 และ 6 ของประเทศไทย ต่อจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน-อ่าวพังงา และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
โดย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความโดดเด่นทางธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่มากถึง 42 เกาะ อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทางทะเล มีแนวปะการังที่โดดเด่นสวยงาม อีกทั้งยังพบ รองเท้ากล้วยไม้นารีอ่างทอง (Ang Thong Lady Slipper , Paphiopedilumniveum) ซึ่งพบเห็นได้ที่เดียวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง สัตว์ทะเลสำคัญ ได้แก่ โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ วาฬบรูด้า และเต่าตนุ สำหรับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง มีระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ป่าหลากหลายประเภท เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ และแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน สัตว์ป่าสงวนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาพื้นที่ให้เป็นมรดกอาเซียน ประกอบด้วย 10 หลักเกณฑ์ ได้แก่ ความสมบูรณ์ทางนิเวศ ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค ความเป็นธรรมชาติ ความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง กฎหมายที่กำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง แผนการบริหารจัดการที่ได้รับความเห็นชอบ ลักษณะการข้ามพรมแดน มีลักษณะเอกลักษณ์ มีความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ และมีความสำคัญสำหรับชนิดพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมรดกอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทยทั้ง 2 แห่ง ได้ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวข้างต้น จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกอาเซียน ในครั้งนี้