นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้มีการใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คพ. ได้จัดทำข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1. ถอดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยไม่สัมผัสกับด้านในของหน้ากาก 2. ม้วนให้ส่วนที่สัมผัสกับปากอยู่ด้านใน พันสายรัดให้แน่น 3. ใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น ระบุข้อความว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” ให้ชัดเจน และ 4. นำไปทิ้งแยก
จากขยะทั่วไป เพื่อรอการเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ทส. ขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยในขวดน้ำดื่มพลาสติกนายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งมีบางครัวเรือน
ที่แยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ลงในขวดพลาสติกเนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับผิดชอบงานเก็บขนขยะ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ทส. ต้องรบกวนขอความร่วมมือ พี่น้องประชาชน ไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในขวดน้ำดื่มพลาสติกดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.การใส่ขยะติดเชื้อในขวดพลาสติกจะทำให้ไม่สามารถกำจัดได้โดยง่าย นอกจากการนำไปเผา
ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่าเดิม เพราะต้องเผาขวดพลาสติกไปด้วย 2. หากไม่นำไปเผา พนักงานเก็บขยะจะต้องเปิดขวด
เพื่อดึงหน้ากากออกมา จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเพิ่มภาระให้กับพนักงานเก็บขนขยะ 3. ขวดพลาสติก PET ยังมีมูลค่าและราคาค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ หากมีการนำเอาหน้ากากอนามัยออกเพื่อนำขวดไปขายจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเชื้อโรคและการระบาดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และ 4. ร้านรับซื้อของเก่าหรือโรงงานรีไซเคิลจะไม่รับซื้อขวดพลาสติกที่มีของแข็งหรือของเหลวใดๆ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดังนั้น ขวดพลาสติกที่มีหน้ากากอนามัยจะถูกคัดทิ้งกลับไปเป็นขยะพลาสติกอีกครั้ง จึงเป็นการก่อให้เกิดมลภาวะอย่างไม่รู้จบ

ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี หากขวดพลาสติกเหล่านี้ไม่มีการปนเปื้อน
ก็จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการนำพลาสติกภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จึงขอความร่วมมือช่วยกันแชร์ ช่วยกันบอกต่อ ส่งต่อคำแนะนำและองค์ความรู้ดังกล่าวให้ทั่วถึง อย่างน้อยให้คนในครอบครัวได้ช่วยกันจัดการขยะหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกวิธี ไม่เพิ่มความเสี่ยงอันตรายให้กับพนักงานเก็บขนขยะและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล กล่าว