สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติ และพี่น้องสื่อมวลทุกท่าน วันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความตั้งใจที่จะสื่อสารกับทุกท่านถึงความสำคัญของประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษและไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของประชาชนชาวไทย
- ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีความเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ถือเป็น “Code red” ที่ต้องได้รับความสนใจ โดยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ๑.๑ องศาเซลเซียส จากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น รายงาน NDC Synthesis report ยังแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายการดำเนินงานที่ประเทศต่าง ๆ จัดส่งภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน ๒ หรือ ๑.๕ องศาเซลเซียส แต่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิประมาณ ๒.๗ องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. ๒๑๐๐
- การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศจาก ๑๙๗ ประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ได้แสดงความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหารือเพื่อนำไปสู่ข้อตัดสินใจร่วมกันทั้งในระดับการเมือง เพื่อกำหนดแนวทาง นโยบาย มาตรการและกลไกการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างยั่งยืน
- การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ ๒๖ (COP26) ในปีนี้ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักร ในฐานะประธาน COP 26 ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (global net zero emission) ภายในกลางศตวรรษ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องชุมชนและระบบนิเวศ การระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วให้บรรลุตามเป้าหมายการเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา และการเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปต่อประเด็น ที่ยังคงค้างภายใต้แผนการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
- ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ มาโดยตลอด เพื่อแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับนานาประเทศในการมีส่วนร่วมแก้ปัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการความเป็นธรรมและคำนึงถึงขีดความสามารถและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน และนำข้อตัดสินใจรวมกันมาดำเนินการภายในประเทศ ซึ่งการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและแผนที่ได้วางไว้จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา องค์กรอิสระ องค์กรระหว่างประเทศ และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
- ในการประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยจะประกาศและจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality เพื่อแสดงถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งต่อความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกรอบมาตรการที่ชัดเจน (ปัจจุบันมีประเทศที่จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ๓๓ ประเทศ โดยในจำนวนนี้ มีจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๒ ประเทศ คือ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย)
- ทั้งนี้ สำหรับการเข้าร่วมประชุม COP26 ประเทศไทยเน้นย้ำท่าทีของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ อย่างสมดุล โดยการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศจะต้องพิจารณาอย่างบูรณาการและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ตามขีดความสามารถ (Common but differentiated responsibility and respective capability) โดยประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส และคาดหวังให้การประชุม COP26 สามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเจรจาที่ยังไม่มีข้อสรุปได้ เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้ความตกลงปารีสในระยะหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ต่อไป
- นอกจากนี้ ในห้วงการประชุม COP26 ประเทศไทยจะมีการหารือทวิภาคี (Bilateral discussion and cooperation) ร่วมกับสมาพันธรัฐสวิส เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณานัดหมายการหารือร่วมกับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป