นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีชาวบ้านร้องผ่านสื่อมวลชน เรื่อง โรงงานผลิตปลาร้าชื่อดัง ส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสีย รบกวนมาร่วม 7 ปี ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ร้องเรียนไปทุกหน่วยงาน แต่ไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน นั้น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 คพ. ได้มอบหมายสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (สคพ.10) ตรวจสอบข้อเท็จจริง และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ อบต.บ้านดง ทสจ.ขอนแก่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กอ.รมน.จ.ขอนแก่น และตัวแทนผู้นำชุมชน แก้ไขปัญหาดังกล่าว มาเป็นลำดับ สาเหตุของปัญหากลิ่นเหม็นเกิดขึ้นบริเวณจุดต้มปลาร้า ทั้งบริเวณอาคารโกดังและอาคารบรรจุขวด บริเวณจุดตากกากปลาร้า และระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งคณะตรวจสอบมีข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการแก้ไข และให้อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น แจ้งให้ บริษัทฯ ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ถูกต้อง ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทการประกอบกิจการทำอาหารจากสัตว์น้ำและบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 แล้ว

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า จากการติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในช่วงปลายปี 2566 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียเป็นแบบเอสบีอาร์ (Sequencing Batch Reactor; SBR) ขนาด 80 ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว จะนำไปรดแปลงปลูกเตยในพื้นที่ของโรงงาน ไม่มีการระบายน้ำออกนอกพื้นที่โรงงาน มีการตรวจสอบบันทึกแบบ ทส.1 และทส.2 ซึ่งต้องรายงานเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสีย ตามมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พบว่าไม่มีการรายงานในบางช่วงเวลา จึงได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้จ่ายค่าปรับครบตามจำนวนแล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 และมีการรายงานครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ประชาชนยังคงร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ว่าได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็น ในช่วงเดือน เมษายน 2567 คพ. ได้ให้คำแนะนำกับคณะทำงานฯ ในการแก้ไขปัญหา โดยการปิดคลุมบ่อปรับสภาพน้ำเสีย การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็น หรือพัฒนากระบวนการผลิตเป็นระบบปิด เป็นต้น ซึ่งในช่วงเดือน พฤษภาคม 2567 บริษัทฯ ได้หยุดผลิตเพื่อปรับปรุงและปิดคลุมบ่อบำบัดน้ำเสีย และจากการตรวจสอบกระบวนการผลิต บริษัทฯ มีการดูดกลิ่นจากกระบวนการต้มปลาร้าไปยังระบบบำบัดกลิ่นแบบสเปรย์น้ำด้านหลังอาคารผลิตจึงได้ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดกลิ่นจากเตาต้มปลาร้า อาคารผลิต รวมทั้งเสนอให้มีการตรวจวัดประสิทธิภาพระบบกำจัดกลิ่นและตรวจวัดคุณภาพอากาศ/น้ำเสียที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นประจำ และรายงานผลการตรวจสอบให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ ความก้าวหน้า ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการปิดคลุมบ่อบำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด จัดหาถังและปิดภาชนะเก็บวัตถุดิบทั้งหมด ปรับปรุงอาคารผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการดูดกลิ่น พร้อมเสนอแผนปรับปรุงกระบวนการผลิต (ต้มปลาร้า) เป็นระบบปิด กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 และจะปลูกพืชเป็นแนว Buffer Zone หรือแนวกันชนป้องกันกลิ่น

นอกจากโรงงานผลิตปลาร้าที่ได้รับการร้องเรียน ยังมีสถานผลิตปลาร้าที่อยู่ติดกัน ก็ได้รับการตรวจสอบและให้คำแนะนำเช่นกัน เนื่องจากจะมีกลิ่นเหม็น จากบริเวณจุดต้มปลาร้า และบริเวณจุดต้มปรุงรส ซึ่งกระบวนการผลิต ยังเป็นการต้มระบบเปิดและไม่มีระบบรวบรวมหรือดูดกลิ่นไปกำจัด โดยการประกอบการดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่ง อบต.บ้านดง จะต้องให้สถานผลิตปลาร้ารายนี้ขออนุญาตการประกอบการ และปฏิบัติให้เป็นตามเงื่อนไขกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ด้วย ทั้งนี้ คพ.ได้มอบหมายให้ สคพ.10 ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกระบวนการผลิต และการบำบัดของเสีย เพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็น และลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนข้างเคียง นางสาวปรีญาพร กล่าว