การประชุมการท่องเที่ยวเชิงวิจัยโลก (World Research Travel Conference) ประจำปี 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลเหอหนาน รัฐบาลประชาชนเมืองลั่วหยาง และองค์การการท่องเที่ยวเชิงวิจัยโลก (World Research Travel Organization หรือ WRTO) ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการกว่า 200 คนในแวดวงการวิจัยและผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวได้ตบเท้าเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง ในการประชุมครั้งนี้ คุณหวง ตงเชิง (Huang Dongsheng) หัวหน้าสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลเหอหนาน และคุณหยาง หลิน (Yang Lin) รองประธานของ WRTO ได้ทำพิธีเปิดป้ายชื่อของสำนักงานผู้แทนเหอหนานของ WRTO (แคนาดา) ขณะที่คุณหยาง เจิ้นจื้อ (Yang Zhenzhi) ประธานบริหารของ WRTO ได้ประกาศปฏิญญาลั่วหยาง (Luoyang Declaration) เพื่อปกป้องและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมโดยอาศัยการท่องเที่ยวเชิงวิจัย พร้อมแจ้งแผนจัดการประชุมการท่องเที่ยวเชิงวิจัยโลก ประจำปี 2567 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งยังได้จัดพิธีมอบธงด้วย
ในการประชุมได้มีการเผยแพร่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวิจัยที่น่าสนใจรวม 10 แห่งในมณฑลเหอหนาน ทั้งยังนำเสนอระบบผลิตภัณฑ์การวิจัยที่มีความหลากหลายอย่าง “เหอหนาน แหล่งกำเนิดของจีน” (Henan, the cradle of China) ใน 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ การตามรอยอารยธรรม บทกวี และภาพอันงดงามของจีน ศิลปะการต่อสู้ และบ้านเกิด นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวการเดินทางศึกษาวัฒนธรรมแม่น้ำฮวงโห (A Journey of Studying the Yellow River Culture) ในการประชุมครั้งนี้ด้วย ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเหอหนานได้เดินหน้ากลยุทธ์ในการบูรณาการวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างล้ำลึก โดยมุ่งเน้นไปที่อารยธรรมแม่น้ำฮวงโห ปัจจุบันได้สร้างฐานการวิจัยและท่องเที่ยวแล้วเสร็จรวม 487 แห่ง พร้อมพัฒนาหลักสูตรในมณฑลรวมแล้ว 3,970 รายการ การประชุมครั้งนี้จะเปิดตลาดการศึกษาในต่างประเทศ ช่วยเร่งการวิจัยและสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมการวิจัยสำหรับมณฑลเหอหนาน โดยมีวัฒนธรรมเป็นตัวชูโรง
ลั่วหยางเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ รวมถึง “ห้าที่ตั้งเมืองหลวง” ซึ่งประกอบด้วยที่ตั้งเอ้อหลี่โถว เมืองหลวงสมัยราชวงศ์เซี่ย, ที่ตั้งหยานซี เมืองหลวงสมัยราชวงศ์ชาง, ที่ตั้งเมืองหลวงสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก, ที่ตั้งเมืองลั่วหยางสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและราชวงศ์เว่ยเหนือ และซากปรักหักพังลั่วหยางสมัยราชวงศ์สุยและถัง (อุทยานโบราณคดีแห่งชาติสุย-ถัง เมืองลั่วหยาง) เช่นเดียวกับถ้ำหลงเหมิน วัดม้าขาว กวานหลิน (วัดกวนอู) ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าเมืองแห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงมานานกว่า 1,500 ปี