กฟผ. เปิดต้นแบบหอฟอกอากาศสำหรับชุมชนด้วยเทคนิคพลาสมา ผลงานจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ โชว์ประสิทธิภาพ ดักจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 มากกว่า 80% ฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 30,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 250 เมตร ร่วมสร้างอากาศบริสุทธิ์เพื่อลมหายใจแห่งอนาคต
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน การพัฒนาต้นแบบหอฟอกอากาศสำหรับชุมชนด้วยเทคนิคพลาสมา เกิดจากการรวมพลังของทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. ที่ต้องการช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ด้วยประสิทธิภาพมากกว่า 80% ในการดักจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 30,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 250 เมตร สามารถนำไปติดตั้งใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น หรือมลพิษทางอากาศเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อีกทางหนึ่ง สำหรับหอฟอกอากาศต้นแบบที่ติดตั้งในพื้นที่ กฟผ. นี้ จะมีการติดตามการใช้งาน เพื่อพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น และขยายผลการติดตั้งไปในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีปริมาณฝุ่นในอากาศเข้มข้น และเกิดปัญหามลพิษทางอากาศต่อเนื่องมาหลายปี
นวัตกรรมหอฟอกอากาศนี้ สูง 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 6 ตัน ใช้เทคนิคการกำเนิดพลาสมา ที่ใช้ไฟฟ้าแรงสูงเพื่อสร้างความเครียดสนามไฟฟ้า ทำให้อากาศแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า (Pre-charge) จากนั้นจึงปล่อยประจุไฟฟ้าไปเกาะอนุภาคฝุ่น PM2.5 เมื่ออนุภาคฝุ่นที่มีประจุเคลื่อนตัวผ่านห้องดักจับอนุภาค ก็จะถูกกักเก็บได้โดยง่าย องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้บริการตรวจวัดประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองของเครื่องป้องกันและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย และเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ได้อีกด้วย