กฟผ. พร้อมภาคีเครือข่าย ประกาศความร่วมมือน้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานเยาวชนไทย ร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพิธีลงนาม 4 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับ ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ 8 สถาบันอุดมศึกษา โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมผู้แทน 8 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมลงนาม แสดงเจตจำนงความร่วมมือ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กว่า 54 ปี ที่ กฟผ. มุ่งมั่นดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ควบคู่กับส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการคุณภาพอากาศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ การเพิ่มการดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามเป้าหมายประเทศ เพื่อความสุขของคนไทยอย่างยั่งยืน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า มูลนิธิฯ ยินดีและพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมกับ กฟผ. และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากร ดินน้ำป่าของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน โดยจะร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนปากมูล
ด้านนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการสำนักงาน กปร. กล่าวถึงความมุ่งมั่นดำเนินงานสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่องด้วยดีตลอดมาระหว่าง กฟผ. กับ สำนักงาน กปร. โดยในปี 2566 นี้ จะร่วมกันส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงาน ด้วยการสนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นำร่อง 4 แห่ง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก เพื่อปรับปรุงและเสริมสร้างความมั่นคงด้านการใช้ไฟฟ้าในการเรียนการสอน พร้อมบูรณาการต่อยอดการปลูกป่าในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณป่าต้นน้ำ นำร่องดำเนินงานบริเวณอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี และอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จังหวัดชัยภูมิ รวม 700 ไร่ ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ.
ด้าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ แสดงเจตจำนงเดินหน้าต่อเนื่องขับเคลื่อนโครงการศาสตร์พระราชาสืบสานงานของพ่อปี 2 ร่วมกับ กฟผ. ที่มุ่งพัฒนา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ให้พึ่งพาตนเองได้
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความพร้อมของ 8 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะร่วมสนับสนุนโครงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมปี 2 ให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรม โดยต่อยอดการส่งเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโครงการห้องเรียนสีเขียว กฟผ. เข้าสู่ระดับอุดมศึกษา จากการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”