ความขัดแย้ง และการประหัตประหารบังคับให้ผู้คนโดยประมาณกว่า 80 ล้านคนทั่วโลกต้องหนีออกจากบ้านเกิดของตนเอง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพิ่มความท้าทายให้แก่ระบบสาธารณสุข การเรียน และชุมชนต่างๆ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นมักเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วย การหาโรงเรียนให้เด็กๆ หรือแม้แต่การหาพื้นที่ให้พวกเขาได้วิ่งเล่น
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำงานเคียงข้างผู้ลี้ภัยในทุกๆ วัน ให้พวกเขาได้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และการกีฬาเพื่อเป็นรากฐานในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น และความช่วยเหลือจากคุณทุกคนสามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ได้ วันผู้ลี้ภัยโลกที่จะมาถึงนี้ ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี ตามประกาศของประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อระลึกถึงผู้ลี้ภัยทั่วโลก และยังเป็นโอกาสในการสร้างความห่วงใยและความเข้าใจต่อพวกเขาที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่โหดร้าย และระลึกถึงความเข้มแข็งที่พวกเขามีในการสร้างชีวิตใหม่
“UNHCR สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทยในการวางแผนมาตรการการรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อความจำเป็นด้านสาธารณสุขแก่ผู้ลี้ภัยและกลุ่มบุคคลเปราะบางท่ามกลางสถานการณ์นี้” คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว
“ผู้ลี้ภัยในสายอาชีพแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และอาสาสมัครทั่วโลก ได้ร่วมต่อสู้กับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ และหากพวกเขาได้รับโอกาส แน่นอนว่าผู้ลี้ภัยจะช่วยส่งเสริมให้โลกใบนี้แข็งแกร่ง ปลอดภัย และสดใสขึ้นได้”
ปีนี้ UNHCR ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และท่ามหาราช ระลึกถึงวันผู้ลี้ภัยโลก ผ่านงาน “เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 10” พร้อมกิจกรรมพิเศษให้ทุกท่านได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพลิดเพลินกับการชมเรือลำพิเศษ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก และการแสดงผลงานประกวดออกแบบโปสเตอร์จากฝีมือคนไทยทั้งประเทศ ในบรรยากาศสบายริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 19 – 20 มิถุนายนนี้ ที่ท่ามหาราช
ภายในงานเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 10 นี้ ท่านจะได้รับชมภาพยนตร์เรื่องราวความเข้มแข็งและความสามารถของผู้ลี้ภัยในด้านต่างๆ ภาพยนตร์สารคดี Runner สะท้อนเส้นทางของนักวิ่งมาราธอนชาวซูดานใต้ กูออร์ เมดดิ้ง เมคเคอร์ ที่ถูกบังคับให้หนีจากความรุนแรงในซูดานและได้รับโอกาสย้ายถิ่นฐานไปเริ่มชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา สารคดีเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นความลำบากและชัยชนะของผู้ลี้ภัยที่วันหนึ่งได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะนักกีฬาโอลิมปิก
“เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ สหรัฐฯ ขอร่วมฉลองความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งกับรัฐบาลไทย และขอแสดงความขอบคุณต่อ UNHCR รวมทั้งองค์กรภาคีนอกภาครัฐต่างๆ สำหรับงานด้านมนุษยธรรม ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯ และไทยได้ทำงานเคียงข้างกันเพื่อปกป้องและตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัยกว่า 500,000 คนผ่านทางประเทศไทย ทางสหรัฐฯ มีความภูมิใจที่ได้เป็นประเทศผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านสาธารณสุขและการศึกษา เมื่อปีที่แล้ว เราได้ให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่ากว่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านสาธารณสุข การป้องกันโรคโควิด-19 อาหาร และที่พักพิง แก่ผู้ลี้ภัยและชุมชนไทยทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคตามแนวชายแดนต่างๆ” คุณไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าว
The Boy Who Harnessed the Wind ภาพยนตร์จากประเทศอังกฤษที่สร้างจากหนังสือชื่อดังระดับโลก ซึ่ง ได้รับอนุญาตจาก Netflix เป็นกรณีพิเศษเพื่อจัดฉายสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องจริงของเด็กชายนักประดิษฐ์ วัย 13 ปี ที่ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยาก คิดค้นหาวิธีช่วยหมู่บ้านของเขาในมาลาวีให้รอดพ้นจากความอดอยากและมีชีวิตที่ดีขึ้น เขียนบทและนำแสดงโดยนักแสดงชาวอังกฤษชื่อดัง ชีวิเทล อีจีโอฟอร์ และเป็นการเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของเขาด้วย
“วันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ เป็นโอกาสให้เราหันกลับมามองว่า ยังมีกลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องได้รับการปกป้องและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อให้พวกเขาได้รับความรู้และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดิฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่อง The Boy Who Harnessed the Wind จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรามุ่งหน้าสู่การพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คุณอเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าว
“นอกจากสายน้ำจะมีประวัติศาสตร์เคียงคู่กับคนไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว การเดินทางทางเรือยังแสดงถึงความหวังและหนทางเอาชีวิตรอดของผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน ดิฉันหวังว่าเรือลำพิเศษ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกนี้จะจุดประกายให้คนไทยร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และร่วมสร้างความหวังให้พวกเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น” คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ ท่ามหาราช
ในปีที่สองของการประกวดออกแบบโปสเตอร์งานเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ของ UNHCR เราได้สร้างการรับรู้และเชิญชวนให้คนไทยทุกคนให้ได้มีส่วนร่วมในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อผู้ลี้ภัยในแบบที่ทุกคนสามารถทำได้ จากผลงานการประกวดทั้งหมด 52 ผลงาน ขอแสดงความยินดีกับ คุณพัชรวุฒิ จงเจริญวัฒนา ที่ได้รับเลือกผลงานมาใช้เป็นสื่อหลักในการประชาสัมพันธ์งานในปีนี้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์นี้ได้ช่วยสื่อสารข้อความหลักของวันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ที่ว่า “ร่วมแรงร่วมใจทำอะไรก็สำเร็จ : ร่วมรักษา เรียนรู้ และจุดประกายไปด้วยกัน”
กิจกรรมต่างๆ ของงานเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 10 จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 – อาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564 บนลานกิจกรรม ชั้น 2 ของท่ามหาราช เพื่อรักษามาตรการในการเว้นระยะห่าง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและชมภาพยนตร์จำกัดเพียง 20 ท่านแรก ต่อ กิจกรรมเท่านั้น และกิจกรรมจะจัดในสถานที่เปิด