กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซียและขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ ผนึกกำลังกับลาเลย์มานิโนและเจเคทีโฟร์ตีเอต ปล่อยเพลง “Berani Bersuara <3<3” ชูความสำคัญของจริยธรรมทางดิจิทัลเพลงและเนื้อเพลงจังหวะสดใสมีอิทธิพลอย่างมากในการถ่ายทอดข้อความให้คนรุ่นใหม่และคนเจนซี (Gen Z) ในอินโดนีเซีย ส่งผลให้กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (Ministry of Communications and Informatics หรือ MCI) ของอินโดนีเซีย และขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ (GNLD) หรือซิเบอร์เครอาซี (Siberkreasi) ชวนสองวงดนตรีชื่อดังอย่างลาเลย์มานิโน (LALEILMANINO) และเจเคทีโฟร์ตีเอต (JKT48) เปิดแคมเปญ #BeraniBersuara เพลงและวิดีโอเนื้อเพลงในชื่อ “Berani Bersuara <3<3” ซึ่งมีขึ้นเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม โดยเน้นความสำคัญของการมีจริยธรรมทางดิจิทัล นอกจากนี้ เพลงดังกล่าวยังให้ความรู้ว่า การกล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะพูดแบบไม่คิดได้

เพลงคือสื่อสำคัญที่ถ่ายทอดข้อความถึงคนรุ่นใหม่อย่างได้ผล

รายงานล่าสุดจาก DataReportal.com และสตาทิสตา (Statista) พบว่า อินโดนีเซียมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียประมาณ 191.4 ล้านคน และใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยประมาณวันละ 3 ชั่วโมง โดยคนเจนซีเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งหากไม่มีแนวทางส่งเสริมจริยธรรมทางดิจิทัลแล้ว คนเจนซีก็เสี่ยงตกเป็นเป้าของปัญหาโลกออนไลน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวปลอม ไปจนถึงพฤติกรรมที่ไม่มีคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ข้อพิพาท การยั่วยุ การข่มขู่ ข้อความสร้างความเกลียดชัง และการหลอกลวงนอกจากนี้ คนเจนซีเป็นกลุ่มที่ฟังเพลงและดูวิดีโอมากที่สุดบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ เช่น สปอติฟาย (Spotify) โดยวิดีโอเนื้อเพลงซึ่งมีเสียงและภาพเป็นองค์ประกอบหลักในการถ่ายทอดข้อความนั้น เป็นสื่อกลางที่ได้ผลที่สุดในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนรุ่นใหม่

นิโน สมาชิกวงลาเลย์มานิโน โปรดิวเซอร์และเจ้าของผลงานสุดฮิตซึ่งฟอร์มทีมเมื่อปี 2556 จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า “อย่างที่ว่ากันว่า คำพูดที่ไม่คิดเปรียบเหมือนดาบทิ่มแทง นิ้วมือของเราก็เป็นดาบทิ่มแทงในโลกดิจิทัลได้เหมือนกัน สิ่งที่เราพูดบนโลกออนไลน์ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นได้ หรือทำให้ผู้อื่นเชื่อข้อมูลปลอม ๆ ได้ เราขอใช้เพลงนี้เชิญชวนให้ผู้ฟังคิดรอบคอบมากขึ้นเมื่อพูดและอ่านข้อมูลต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นเป้าข้อมูลปลอม ๆ โดยการใส่อีโมติคอน <3<3 ลงในท้ายชื่อเพลงนั้นเป็นการเล่นคำhati-hati ซึ่งมีความหมายได้ทั้ง ‘หัวใจคู่’ หรือ ‘รอบคอบเข้าไว้’ ในภาษาอินโดนีเซีย”

เชนี สมาชิกวงเจเคทีโฟร์ตีเอต กล่าวว่า “ในฐานะกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด เรามักหลงลืมไปว่าในอีกฝั่งของจอก็มีคนที่อ่านคำพูดและดูการกระทำของเรา การคิดก่อนพูดเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อแสดงความเป็นตัวเองออกมาในทางที่ดีในโลกดิจิทัล อย่างที่ประโยคแรกของเพลงนี้บอกไว้”

สร้างคนให้รู้ทันโลกดิจิทัล เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ

เมื่อการพลิกโฉมสู่ดิจิทัลกำลังเป็นรูปร่าง การรู้ทันดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตของอินโดนีเซียคุณริซกี อมีเลีย (Rizki Ameliah) ผู้ประสานงานโครงการรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) ในสังกัดกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า “อินโดนีเซียมีศักยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมและพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ซึ่งรวมถึงวิธีที่พวกเขาแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ เราหวังใช้แคมเปญ #BeraniBersuara เพื่อผลักดันให้คนเจนซีเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีคุณธรรม มีคุณภาพ และเพียบพร้อมด้วยทักษะทางดิจิทัล เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้า”

ฟังเพลงและดูวิดีโอเนื้อเพลง “Berani Bersuara <3<3” ได้ที่ช่องยูทูบของขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ และยังเตรียมเปิดชาเลนจ์ “Berani Dance Challenge” ให้ชิงเงินรางวัลรวมถึง 5 ล้านรูเปียห์ด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันนี้ได้ที่ติ๊กต็อกของขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิดีโอเนื้อเพลง ศิลปินในแคมเปญ และการแข่งขันได้ที่ http://info.literasidigital.id