ในยามที่ทุกคนทราบดีว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรากำลังเกิดวิกฤตไม่ว่าจะเรื่อง PM2.5 ไฟป่า คลื่นความร้อน สารกัมมันตรังสีรั่วไหล คำถามหนึ่งที่ทุกคนล้วนถามตัวเองคือ เราจะช่วยอะไรได้บ้าง? และ หน่วยงานของเราจะลุกขึ้นมาช่วยทำอะไรได้บ้าง? วันนี้ เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ดร.ปรีเปรม นนทลีรักษ์ รองอธิการบดีอาวุโส สายงานการเงินและบริหาร ซึ่งเป็นสองผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนและ Green University โดยตรง
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ เริ่มเปิดเรื่องโดยกล่าวถึงต้นไม้ ว่าต้นไม้นั้นคือสิ่งที่ตอบโจทย์หลายๆ เรื่อง และทำได้ทันที “ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นผู้ที่รักต้นไม้มาก ท่านคิดก่อนเลยเรื่องการปลูกต้นไม้ การรักษาต้นไม้ใหญ่ การจัดแนวของสวน ท่านร่วมขุดดินปลูกต้นไม้ตั้งแต่แรกเริ่ม อาจารย์สนั่น เกตุทัต หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ท่านเป็นเสมือนหัวหน้าแผนกสวนในยุคนั้นเลยทีเดียว และอย่างที่ทุกคนรู้ดีว่า ต้นไม้เป็นเรื่องที่จะเห็นผลในอีกหลายปีต่อมา ต้องอดทน เฝ้ารอ เหมือนการลงทุนระยะยาว จนอย่างที่เราเห็นในวันนี้ว่ามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็น Green University มหาวิทยาลัยที่มีสีเขียวทั่วทุกพื้นที่ มีอุโมงค์ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีป่าขนาดย่อมๆ ในหลายๆ จุดของแคมปัส” “ถ้าถามว่าต้นไม้นั้นช่วยอะไรได้บ้าง ใกล้ที่สุดคือสีเขียวของต้นไม้ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างร่มรื่น ลดความเครียด ความกดดัน มองออกไปจากหน้าต่างของอาคารต่างๆ ก็เห็นความเป็นธรรมชาติ ทั้งบุคลากรและนักศึกษามีความรู้สึกถึงสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ น่าเข้ามาทำงานมาเรียนหนังสือ แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องของการลด PM2.5 ได้โดยตรง แต่ความเป็นธรรมชาติ ณ จุดๆ หนึ่งเป็นเหมือนกำลังใจที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ารอบๆ ตัวเขายังน่าอยู่ มีกำลังใจที่จะสู้กับเรื่องต่างๆ ต่อไป มหาวิทยาลัยเราอยู่ในเมือง พื้นที่สีเขียวของเรากลับไม่น้อย เราอุทิศพื้นที่ให้กับต้นไม้เพื่อช่วยเป็นปอดให้พวกเรา ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาพรวม อันนี้ก็เป็นเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability อีกด้วย” ดร.ดาริกา กล่าวต่อไป
ทางด้าน ดร.ปรีเปรม นนทลีรักษ์ รองอธิการบดีอาวุโส สายงานการเงินและบริหาร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็ได้กล่าวเสริมต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยเราเน้นเรื่อง Green University มาอย่างต่อเนื่อง มีการเชื่อมโยงเรื่องนี้กับการเรียนการสอน การสนับสนุนการวิจัยด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการด้านกายภาพ เราจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยให้มากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด พัฒนาภูมิทัศน์ผ่านสวนและต้นไม้ มีกิจกรรมการประกวดด้านความยั่งยืนมากมาย รวมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาผ่านกิจกรรมต่างๆ”
ดร.ปรีเปรม กล่าวต่อไป “DPU ได้เข้าร่วมการประเมินมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ UI GREEN อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี ผลการประเมินในปี 2564 มหาวิทยาลัยยังคงได้รับการประเมินเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชน จากการประเมินความเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลก (Green University) ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม 6 ด้าน การจัดการพื้นที่และโครงสร้าง พื้นฐานในมหาวิทยาลัย การจัดการพลังงาน การจัดการขยะ การจัดการน้ำ การขนส่ง และการเรียนการสอน การวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จัดโดย UI Green Metrix ซึ่งหลังปี 2564 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการเคลื่อนไหวเรื่องของความยั่งยืนที่มีการขับเคลื่อนตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนด มหาวิทยาลัยจึงได้นำกรอบนโยบายความยั่งยืนเข้าเป็นกรอบในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย กำหนดเป้าหมาย SDG ที่สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัย ทำ Master Plan เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน (Sustainable University) ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าต่อยอดสู่ความยั่งยืน มาจากเรื่อง Green University”