กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทชั้นนำด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สพฐ.) เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพครูวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จัดเวิร์คช้อปออนไลน์ “การอบรมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา โครงการห้องเรียนเคมีดาว รุ่นที่ 8” ให้กับครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจำนวนกว่า 200 คน มุ่งขยายผลและประยุกต์เทคนิคการทดลองที่มีความปลอดภัย ประหยัด ใช้สารเคมีน้อย สู่ชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของเด็กไทยทั่วประเทศ โดยมีครูต้นแบบของโครงการฯ ในรุ่นก่อน ๆ ร่วมถ่ายทอดเทคนิคการสอนที่สร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนผ่านการลงมือปฎิบัติจริงด้วยชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9
“เราเล็งเห็นถึงความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอนของครู การเข้าถึงการทดลองและชุดอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งแม้กระทั่งในภาวะปกติก็มีความลำบากในการจัดหาสารเคมีหรือชุดการทดลองอยู่แล้ว ยิ่งต้องเผชิญกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 วิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ผ่านการทดลองอาจไม่ได้รับความสะดวกในการลงมือปฏิบัติจริงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงยินดีอย่างยิ่งที่จะส่งมอบความรู้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้กับคุณครูทุกท่าน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในห้องเรียนและทางออนไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังยินดีเป็นอย่างมากที่มีคุณครูในหลาย ๆ จังหวัดที่ห่างไกล หรือยังมีสถานการณ์การระบาดได้เข้าร่วมการอบรมกับเราในครั้งนี้ด้วย” นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว
ระบบการเรียนผ่านเทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) เป็นสื่อการสอนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งใช้สารเคมีน้อยกว่าการทดลองแบบปกติถึง 2,000 เท่า ชุุดการทดลองมีขนาดเล็ก และมีความปลอดภัยสููง นักเรียนสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจ จดจำง่าย และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน อันจะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนและส่งผลต่อความสนใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นยัังได้รับการยอมรับจากยููเนสโกว่าได้ผลลัพธ์เสมือนชุดการทดลองปกติ
ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “โครงการห้องเรียนเคมีดาว ได้สร้างการเรียนรู้เชิงประจักษ์ให้กับทั้งครูผู้สอนและนักเรียน จากการทำวิจัยแสดงผลความสอดคล้องของการใช้ชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเสริม เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนจริงในชั้นเรียนแทนการทดลองแล็ปปกติ ผลออกมาพบว่า ชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนช่วยให้ได้ผลการเรียนรู้ที่ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและผู้สอนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่ยังไม่ได้ใช้ชุดการทดลองแบบย่อส่วน หรือมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และห้องทดลองที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอน”
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โครงการฯ ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้การทดลองเคมีอย่างทั่วถึงและมีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainability Development Goal – SDG) ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตด้วยความรับผิดชอบ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน หากวงการศึกษาไทยนำเทคนิคฯ มาใช้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเชิงบวกในแง่ของการลดต้นทุนของการใช้สารเคมีและค่าใช้จ่ายลงกว่า 90% ช่วยลดปริมาณของเสียซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ครูก็สามารถสร้างสรรค์โจทย์การทดลองหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดมุมมองการคิดค้นและต่อยอดชุดการทดลองใหม่ ๆ ในชั้นเรียน
ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สพฐ.) ซึ่งได้เข้ามาร่วมต่อยอดและขยายผลโครงการฯ ในปีนี้ เพื่อเชื่อมโยงเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า “การอบรมหลักสูตรนี้สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ทั้งในด้านการยกระดับของครูผู้สอนให้เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าชื่นชมของการก้าวสู่การพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะส่งผลทำให้นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ รักที่จะเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย มีความสนุกกับการเรียนรู้ และมีโอกาสได้เรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ต่อไป”
“ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้จัดอมรมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้ครูทั่วประเทศและครูในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างครูต้นแบบที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนกว่า 80 คนที่ช่วยเผยแพร่ความรู้ให้กับโรงเรียนมากกว่า 1,000 แห่ง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียนมากกว่า 150,000 คนทั่วประเทศ ในอนาคต เรายังมีแผนงานในการส่งมอบความรู้และนวัตกรรมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาตร์ไทยและอาเซียนให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกต่อไป” ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว กล่าวทิ้งท้าย