กรุงเทพฯ – เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร “การจัดการขยะและสร้างธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ครอบคลุมตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นของเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดหาวัตถุดิบและการพัฒนารูปแบบธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลทั้งในระดับชุมชนและระดับธุรกิจ เทคโนโลยีต่างๆที่นำมาใช้พัฒนาธุรกิจ แนวทางการหาทุน รวมไปถึงการเข้าใจกฏหมายและแนวโน้มทิศทางของธุรกิจด้านการรีไซเคิลของประเทศและทั่วโลก ผู้สำเร็จหลักสูตรจะสามารถนำความรู้ไปพัฒนากิจการของตนเอง หรือเป็นกำลังในสถานประกอบการต่าง ๆ หลักสูตรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ บริษัท NTT DATA Business Solutions และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ให้ตอบโจทย์ภาคการผลิตโดยมีท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนาม
หลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) การจัดการขยะและสร้างธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Zero Waste Management and Building a Business based on the Circular Economy Concept) สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบ่งเป็น 3 โมดูล คือ 1) แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ 2) การพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลระดับชุมชน และ 3) การสร้างธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย กลุ่มบริษัท Dow ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์ระดับโลกที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยและยังเป็นผู้ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมานานกว่า 20 ปี ได้ร่วมวางแผนการพัฒนาหลักสูตร แบ่งปันองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์เพื่อใส่ในหลักสูตร และจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาอบรมเพิ่มเติมให้กับผู้สอน รวมทั้งประสานงานให้ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันกับ Dow เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรในหลักสูตรนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถ สอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนหลักการ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าที่ผ่านมา องค์กรวิจัยตลาดระดับโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคทั้งหมดจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นโยบายภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ก็เน้นลดการปลดปล่อยคาร์บอน และการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง การดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว สิ่งนี้จะส่งผลให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้จะกลายเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของตลาดแรงงาน รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ”“กระทรวง อว. เป็นกระทรวงหลักของประเทศในการพัฒนากำลังคนในระดับอุดมศึกษา โดยทางกระทรวงเล็งเห็นถึงแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะต้องสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น เพื่อช่วยดึงเอาจุดเด่น ซึ่งนั่นก็หมายถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดจากกระบวนการวิจัยในมหาวิทยาลัยไปสร้างเป็นอาชีพ และ ไปสร้างรายได้ต่อไป” ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีความมุ่งมั่นพัฒนาคนหรือบุคลากรในทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อนำไปช่วยพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อดึงเอาจุดเด่น นั่นคือองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในฐานะมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น และช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Dow ได้มีโอกาสใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เราทำงานส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์และพันธมิตรในโครงการฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรนี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย และขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายฉัตรชัยกล่าวเสริม