- CMMU ตอกย้ำความเป็น Modern Business School จุดประกายให้นักศึกษา/ศิษย์เก่าของ CMMU ที่สนใจประกอบธุรกิจ ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
- CMMU ร่วมกับ EXIM BANK ส่งต่อแรงกระเพื่อมพัฒนานักศึกษาสู่นักธุรกิจตัวจริง ผ่าน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก 2. การบริหารจัดการองค์กรและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 3. การเข้าถึงช่องทางบริการทางการเงินด้านต่างๆ
กรุงเทพฯ – วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ตอกย้ำพันธกิจ ‘การผลิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงเพื่อธุรกิจยุคใหม่’ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือในการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้กับนักศึกษาและผู้ประกอบการไทย” ตั้งมั่นบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุน และส่งเสริมความรู้ให้แก่นักศึกษา ศิษย์เก่าของ CMMU ในด้านการประกอบธุรกิจ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “SHIFT ธุรกิจ คิดต่างอย่าง NEXT NORMAL” แลกเปลี่ยนความรู้ประเด็น SMEs ควรปรับวิธีคิดและทำธุรกิจอย่างไรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสความสำเร็จ โดยกูรูในแวดวงการศึกษาและผู้ประกอบการตัวจริง
รศ. ดร. วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้การเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านการจัดการ ทั้งในหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติโดยเป็น Business School เพียง 5% ของโลกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับสากล และจากพันธกิจที่ต้องการพัฒนานักศึกษาของ CMMU ให้เป็นผู้เล่นตัวจริง MVP ที่มีศักยภาพสูงออกสู่ภาคธุรกิจรับปี 2565 และจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไปนั้น วิทยาลัยฯ จึงชูสาขาหนึ่งในหลักสูตรไทย คือ สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation: EI) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการที่ต้องการไปต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ด้วยแนวคิดความคิดที่แตกต่าง โดยปัจจุบันได้มีการสร้างผู้ประกอบการมากว่า 500 คน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ จึงมีแนวความคิดในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้ประกอบการ Startups SMEs หรือ IDEs (Innovation-Driven Entrepreneurs) นั้นสามารถที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตนเองได้ และสามารถที่จะขยายธุรกิจไปสู่โอกาสที่ใหญ่กว่าโอกาสในประเทศได้
รศ. ดร. วิชิตา กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม CMMU ได้ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินระดับแนวหน้าของประเทศ ที่ครบครันด้วยทรัพยากร วิสัยทัศน์ และองค์ความรู้ที่เป็นเลิศทางด้านการเงินและภาคปฏิบัติในโลกธุรกิจ จึงมั่นใจในการระดมพลังในการส่งต่อแรงกระเพื่อมเพื่อพัฒนานักศึกษา ศิษย์เก่าของ CMMU ที่มีความสนใจประกอบธุรกิจต่างๆ จากโลกการศึกษา ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ในโลกการทำธุรกิจจริงได้ อันเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ องค์กร และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก จัดกิจกรรมการสอนและการอบรมให้ความรู้สำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐ อาทิ S-Curve EEC 2. การบริหารจัดการองค์กรและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม จัดสัมมนาทางวิชาการ การจับคู่ธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยข้อมูลร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ 3. การเข้าถึงช่องทางบริการทางการเงินด้านต่างๆ มีช่องทางในการสร้างโอกาสกับสถาบันการเงินทั้งระหว่างเรียนและจบการศึกษา
ด้าน ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับ CMMU มีเป้าหมายเพื่อสานพลังความร่วมมือในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วยนวัตกรรมป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนทั้งความรู้และเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อเพิ่มจำนวนนักรบเศรษฐกิจไทยในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใช้ความสามารถพิเศษขององค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนในโลกยุค Next Normal กระตุ้นและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีความคล่องตัว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาพัฒนาธุรกิจ และปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนพร้อมปรับเปลี่ยนหรือแปลงร่างธุรกิจ (Transformation) ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับและก้าวทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อว่า ในโลกยุค Next Normal EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยการซ่อมอุตสาหกรรมไทยที่ประสบปัญหาแต่มีศักยภาพ อาทิ สายการบิน พาณิชยนาวี สร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เสริมอาวุธ SMEs ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเวทีโลก และสานพลังกับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการศึกษา เพื่อบ่มเพาะบุคลากรให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง พร้อมสร้างคุณค่าและผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกโดยรวมอย่างยั่งยืน
สามารถฟังย้อนหลัง งานสัมมนาออนไลน์ SHIFT “ธุรกิจ คิดต่างอย่าง NEXT NORMAL” ที่ร่วมพูดคุยถึง SME ควรคิดต่างอย่างไร ? สถาบันการเงินควรมีบทบาทอย่างไร ? ผู้ประกอบการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างไร ? โดยมีวิทยากรกูรูด้านการศึกษา ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ ประธานสาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประกอบการตัวจริงอย่าง คุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้บริหาร Qualy Design Brand และคุณภูมิรัติ์ ศิริพจน์โศภณ ผู้บริหาร Ace Star International Trading ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Exim Bank of Thailand (https://www.facebook.com/eximbankofthailand) และสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หลักสูตรไทย และหลักสูตรนานาชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-206-2000 หรือทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/CMMUMAHIDOL