รมว.อว. ชื่นชม โครงการ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” ของ สตช. ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จนคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประชุมสุดยอดตำรวจโลก ในเมืองดูไบ  วันที่ 20 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงความยินดีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งมี พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวฯ นำโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Experience in Community Policing ประเภทการป้องกันอาชญากรรม เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรตํารวจที่มีผลงานในการพัฒนาแนวคิดตํารวจชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด จากประชุมสุดยอดตํารวจโลก ในด้านการปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 14 – 17 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา มาแสดง โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมให้การต้อนรับ ที่ กระทรวง อว. ซึ่งนวัตกรรมสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ของ สตช. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรก ในการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมโดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ”

‘เอนก’ ชื่นชม ‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Experience in Community Policingในการประชุมสุดยอดตํารวจโลก ที่ดูไบโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 เกิดจากแนวคิดของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องการให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจให้กับประชาชน สตช. จึงได้คัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มารค์ แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณ ตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” ยกระดับการทำงานของตำรวจ ตามกรอบแนวคิด “ราชการ 4.0” ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ สตช. ในด้านการป้องกันอาชญากรรม ทั้งนี้ในระยะแรกได้คัดเลือกสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี เป็นสถานีนำร่อง ได้แก่ สน.ห้วยขวาง, สน.ลุมพินี, สน.ภาษีเจริญ, สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองสมุทรปราการ, สภ.เมืองพัทยา, สภ.เมืองระยอง, สภ.เมืองปราจีนบุรี, สภ.ปากช่อง, สภ.เมืองอุดรธานี, สภ.เมืองเชียงใหม่, สภ.เมืองพิษณุโลก, สภ.เมืองราชบุรี, สภ.เมืองภูเก็ต และ สภ.หาดใหญ่ สถานีตำรวจทั้ง 15 สถานี และในระยะที่ 2 ได้ทำการขยายต่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอนนี้มีอยู่ 100 สถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้เน้นการสร้างพื้นที่เซฟตี้โซน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัยในชุมชน
ให้เป็นรูปธรรม โดยได้เริ่มดำเนินการดังนี้ 1) สำรวจกล้อง CTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกัน พร้อมติดตั้งเพิ่มเติม 2) นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น การติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น 3) ติดตั้งเสาสัญญาณ S.O.S เพื่อประชาชนจะได้สามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที 4) จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจาก สตช. หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฎิบัติการ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆมาใช้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อคอยควบคุมและสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5) ใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ  เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น Police i lert u, Police 4.0, LINE Official 6) ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์พื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดต้นไม้ แต่งกิ่งไม้ ในพื้นที่รกล้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง 7) แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน และสร้างกลไกการมีส่วนรวมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนของทุกภาคส่วน