เป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะมีผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทศกาลสำคัญ และเป็นช่วงวันหยุดยาวหลายวัน แต่จำนวนผู้เดินทางในแต่ละเส้นทางที่มากกว่าปกติหลายเท่าตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเป็นท้องถนนมากกว่าปกติด้วยเช่นเดียวกัน ศ.ดร. เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี และผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานโครงสร้างระบบถนน การเดินทาง ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เผชิญกับโรคระบาดอย่างเชื้อโควิด 19 ทำให้การเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดน้อยลง แต่ในปีนี้ถือเป็นปีแรก ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทาง จึงอาจเชื่อได้ว่าจะมีผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนามากกว่าช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และจากจำนวนผู้คนที่อาจจะเพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ หรือบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุเพิ่มสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยปัจจัยสำคัญตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ที่จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนและมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นนั้น ศ.ดร. เกษม ชูจารุกุล เปิดเผยว่า มีด้วยกัน 2 ปัจจัยหลัก คือเรื่องความเร็ว ที่คนมักใช้ความเร็วในการขับรถเดินทางไกล ยิ่งมีอัตราเร่งหรือความเร็วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความเร็วของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุและกระทบวัตถุที่ขวางอยู่ แรงอัดที่เกิดขึ้นจากความเร็วที่มากกว่า ย่อมสร้างเสียหายได้มากกว่าอัตราเร่งตามปกติที่กฏหมายกำหนด และจากสถิติที่เก็บรวบรวมก็พบว่า ความเร็วเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ส่วนอีกปัจจัย คือ การเมาแล้วขับ และยังคงเป็นสาเหตุยอดฮิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ และจากสถิติยังพบอีกด้วยว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ มักจะเสียชีวิตไม่ห่างจากจุดเริ่มเดินทางในระยะ 10 กิโลเมตร
ศ.ดร. เกษม ชูจารุกุล จึงมีคำแนะนำให้กับผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงปีใหม่นี้ ควรทำตามขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสภาพรถก่อนออกเดินทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากความพร้อมของรถ
- ลดความเร็วให้อยู่ในอัตราที่กฏหมายกำหนด ตามสภาพถนนนั้นๆ
- อ่านป้ายข้อความแจ้งเตือนล่วงหน้า ลักษณะทางที่ไม่คุ้นเคย
- ศึกษาเส้นทางเป้าหมายที่ต้องการเดินทางล่วงหน้า
- พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม
และข้อควรระวังอีกสิ่งที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ คือการขับรถในระยะประชิดกับรถคันหน้า โดยเฉพาะช่วงเวลาเปลี่ยนช่องทางการจราจรหรือขับแซงรถด้านหน้า ซึ่งตามมาตรฐานสากล กำหนดให้รถคันหลังขับตามรถคันหน้าโดยเว้นระยะห่างครึ่งหนึ่งของความเร็ว เช่น หากกำลังขับตามกันด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เว้นระยะจากคันหน้า 40 เมตร แต่ถ้าสภาพถนนไม่ดี ยางล้อรถเก่า หรือมีฝนตกหนักให้เพิ่มระยะห่างเป็นสองเท่า ส่วนประเด็นเรื่องป้ายแก้ง่วง ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ศ.ดร. เกษม เปิดเผยว่า จากการศึกษา ตามหลักวิศวกรรมพบว่า มีส่วนช่วยให้ตื่นตัวขึ้นจริง ซึ่งได้ทำการศึกษาด้วยการวัดคลื่นสมอง ในขณะที่ขับรถผ่านและอ่านป้ายข้อความ แต่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนข้อความคำถามอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับคนที่ขับรถบนถนนเส้นนั้นบ่อยครั้ง ส่วนข้อกังวลว่า การเพ่งมองป้ายแก้ง่วง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้หรือไม่นั้น มองว่า มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก เนื่องจากปกติผู้ขับรถก็มักจะอ่านป้ายข้อความข้างถนนอยู่แล้ว และจากศึกษาภาพรวมก็พบว่าการมีป้ายแก้ง่วงมีผลดีมากกว่าผลเสีย