นักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลิตกระถางต้นไม้ใยมะพร้าวรักษ์โลก และภาชนะจากวัตถุดิบธรรมชาติ หารายได้เสริมให้แก่ตนเองและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัส COVID-19 เพื่อลดการใช้พลาสติกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์พี่เลี้ยง กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายระลอกตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะซาลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจากมาตรการต่างๆ ในการควบคุมของภาครัฐ เช่น ปิดสถานประกอบการ จำกัดเวลาในการเดินทาง ขอความร่วมมือให้ทำงานจากที่บ้าน จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ฯลฯ ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนต้องปรับเปลี่ยนไป สถานประกอบการ ธุรกิจบริการ ร้านค้า และร้านอาหารต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก เกิดการเลิกจ้างงาน ตกงานมากขึ้น ผู้ปกครองนักศึกษารายได้ลดลง บัณฑิตจบใหม่หางานทำไม่ได้ และมีความเสี่ยงตกงานสูงหรือได้งานช้า ดังนั้น เพื่อสร้างทักษะความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดทำแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ต้นทุนกำไร และการวางแผนการตลาด ฯลฯ จึงเป็นที่มาของการร่วมโครงการสร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยประสานงานกับชุมชนหลักหก ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตที่จะออกไปมีเครื่องมือและพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ภายใต้ภาวะสังคมยุคโควิด-19
นายธนวัฒน์ อาจโยธา ตัวแทนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ สร้างเครื่องปั๊มภาชนะจากวัตถุดิบธรรมชาติ “RSU Dish Maker” เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะนำผักตบชวาซึ่งมีมากในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า โดยการทำกระถางเพาะกล้าไม้จากผักตบชวา ส่งเสริมให้แปรรูปผักตบชวาเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่จะสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และใช้กาบหมากมาปั๊มเป็นจานใส่อาหาร ซึ่งนอกจากจะแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลาสติกที่ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษและทำให้เกิดโลกร้อน อีกทั้งเป็นการผลักดันให้นักศึกษาเรียนรู้และสร้างรายได้ร่วมกับชุมชน “ขณะนี้มีชาวบ้านติดโควิด-19 เป็นจำนวนมากต้องแยกกักตัว ‘Home Isolation’ เราจึงขาดวัตถุดิบอย่างผักตบชวา ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสเราจึงใช้ใยมะพร้าวมาปั๊มกระถางต้นไม้รักษ์โลก ทดแทนผักตบชาและใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น ไม้ไผ่สาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้การผลิตสินค้าให้แก่ชุมชนในอนาคต พวกเราใช้เวลาว่างหลังจากการเรียนออนไลน์ มาผลิตกระถางเพาะกล้าต้นไม้และภาชนะจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยได้แนวคิดการทำธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานราก สำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในสถานการณ์วิกฤตเพื่อประโยชน์ในการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชน”