ว่ากันว่า “ภาพหนึ่งภาพมีล้านความหมาย” เพราะภาพถ่ายไม่ได้มีไว้เพียงแค่บันทึกความทรงจำ หรือถ่ายเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ภาพถ่ายสามารถบอกเล่าหรือแชร์มุมมองที่แตกต่างของช่างภาพผู้กดชัตเตอร์ วันนี้จะพาทุกท่านไปเปิดประสบการณ์ การสื่อสารผ่านภาพถ่าย
อาจารย์มาร์ค-ภานุพันธ์ กิจแสวง อาจารย์สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการสนใจถ่ายภาพว่า ประมาณช่วงเรียนปริญญาตรีปี 3 ช่วงนั้นลงเรียนวิชาถ่ายภาพเป็นวิชาโท ประกอบกับเริ่มสนใจจริงจังคือตอนที่โดนกดดันจากครอบครัว ด้วยความที่เราเป็นเด็กนิเทศศาสตร์ ทุกครั้งที่ไปงานหรือมีงาน เขาจะเป็นคนถ่ายภาพให้เรา ซึ่งแน่นอนว่ามาพร้อมกับความคาดหวังว่าเราต้องถ่ายสวย จากจุดนั้นเราก็พยายามพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงฝึกงาน ได้ฝึกในตำแหน่งช่างภาพให้กับ GMM Grammy จึงทำให้เรายิ่งต้องพัฒนาตนเองให้มากกว่าเดิมและต่อยอดเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
“งานแรกในช่วงที่เริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ คือ งานถ่ายภาพรับปริญญาเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับตอนนั้นสนใจงานถ่าย Magazine ด้วย จึงใช้โอกาสบางจังหวะที่มีคนจ้างไปถ่ายงานรับปริญญานอกรอบฝึกเรื่องทิศทางของแสงไปในตัว เมื่อเริ่มมีกลุ่มลูกค้า มีผลงานมากขึ้น ก็ขยับไปรับงานถ่ายภาพที่ Scale ใหญ่ขึ้น เช่น งานแต่งงาน งานสังสรรค์ รับจ็อบงานถ่ายภาพลักษณะนี้อยู่ช่วงหนึ่งและรับโจทย์งานจากทาง GMM Grammy ไปด้วย หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่อเมริกา ซึ่งช่วงแรกที่ย้ายไปยังไม่กล้ารับงานถ่ายภาพเพราะยังติดอยู่กับเรื่องของภาษาในการสื่อสาร ใช้ระยะเวลาอยู่ประมาณหนึ่ง กระทั่งช่วงที่เริ่มเรียนต่อปริญญาโท ก็เริ่มรับงานเป็นการถ่ายภาพให้ร้านอาหารไทย โดยเริ่มจากเอาผลงานของเราไปให้เขาดู แล้วก็ขายงานให้เขาฟัง เรียกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาทองของผมเลย เพราะผมถ่ายภาพให้แทบทุกร้าน และเมื่อถ่ายภาพร้านอาหารมาสักพัก บวกกับคอนเนคชั่นที่ได้จากห้องเรียน ผมก็เริ่มรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายภาพงานโฆษณา งานถ่ายภาพ Magazine งานถ่ายหน้าปกอัลบั้ม เป็นต้น”