สกสว.นำทัพขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย เปิดเวทีระดมสมองจับมือทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับภูมิภาค ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “เอนก” ชี้นักวิชาการต้องเป็นนักบริหารที่เป็นผู้นำต้องช่ำชองเรื่องยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น และเห็นโอกาสที่จะพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 (TSRI Annual Symposium 2022) ภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นจากทั้งภาคนโยบายของประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประชาคม ววน. และผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายเศรษฐกิจและสังคมระดับภูมิภาค ตลอดจนแนวทางการทำงานร่วมกันของ ววน. กับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาค
ในโอกาสนี้ รมว.อว.ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า ภูมิภาคเป็นความหมายเชิงพื้นที่ ไม่ใช่แค่ตำบลหรืออำเภอ แต่เป็นภูมิภาคในความหมายที่มากกว่าประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยนับเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ชายแดนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเหนือ ด้านใต้ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งตะวันตก
เราได้เปรียบดุลการค้าเกือบทุกชายแดน ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าชายแดนของเราเป็นแค่เขตป่าเขาที่มีความมั่นคงเป็นหลัก แต่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจอาเซียน 600 ล้านคนที่สามารถดึงดูดความสนใจจากทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย หรือทวีปอื่น ๆ จึงต้องมองการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทยด้วยภาพใหญ่แบบนี้
“สกสว. เป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ที่พยายามจะพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นต้องเห็นประเทศเป็นโอกาส เห็นการงานเป็นโอกาส ไม่ใช่เห็นประเทศเป็นปัญหา ไม่ใช่เห็นการงานเป็นปัญหา และถ้ามีปัญหาเราก็เปลี่ยนปัญหานั้นให้เป็นโอกาส ถ้าคิดแบบนี้เราจะรบชนะอยู่ร่ำไป ประเทศที่จะรบชนะบางทีไม่ต้องพร้อมก็ชนะได้ บางทีพร้อมน้อยก็ชนะพร้อมมากได้ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่ต้องคิดแบบมีชั้นเชิง มีกลยุทธ์ มีความพลิกแพลงได้ พวกเราทุกคนไม่ใช่นักวิชาการแล้ว แต่ท่านเป็นนักบริหาร ที่เป็นผู้นำ ที่จะต้องช่ำชองเรื่องยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพในอนาคตที่อยากเห็น คือ การรับรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงตามบริบทของพื้นที่ มีแผนด้าน ววน. เชิงพื้นที่เป็นกลไกขับเคลื่อน เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มีการพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ พัฒนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อเป้าหมายในการกระจายความเจริญลดช่องว่างรายได้ เพิ่มจำนวนเมืองศูนย์กลางของจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่ พัฒนาฐานเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ชายแดน ให้แต่ละภูมิภาคสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคต
ภายในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทยด้วย ววน., เทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมเพื่อพื้นที่และชุมชน, ขับเคลื่อนธุรกิจและวิสาหกิจภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงานวิจัยสู่ชุมชนเพื่อประชาชน โดยมีวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ตรงจากทุกภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อผนึกกำลังผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี จนกระทั่งสามารถยกระดับศักยภาพของประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้