เมื่อเร็ว ๆ นี้ วิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University HSBC Business School หรือ PHBS) วิทยาเขตสหราชอาณาจักร ได้จัดงานฉลองครบรอบ 125 ปีของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พร้อมกับฉลองครบรอบ 5 ปีของวิทยาเขตนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบอร์สฮิลล์ ในออกซ์ฟอร์ดเชอร์ ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครั้งนี้ มีการจัดประชุมหัวข้อ “ความท้าทายใหม่และความต้องการใหม่สำหรับการศึกษาด้านธุรกิจในระดับอุดมศึกษา” (New Challenges and New Demands for Business Studies in Higher Education) ซึ่งดึงดูดนักวิชาการและผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ประกอบด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford), วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science), มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London), มหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol), ธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน สาขาลอนดอน (China Construction Bank London Branch) และสถาบันวิจัยที่ปรึกษาด้านการศึกษาของคิวเอส เวิลด์ ยูนิเวอร์ซิตี แรงกิงส์ (QS World University Rankings Education Consulting Research Institute)
ในระหว่างการกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์เหวิน ไห่ (Wen Hai) คณบดีผู้ก่อตั้งวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้เน้นย้ำถึงความพยายามร่วมกันในการก่อร่างสร้างวิทยาเขตสหราชอาณาจักรตลอดห้าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เขาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของวิทยาเขตในการพัฒนาความเป็นสากลของทั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างจีน สหราชอาณาจักร และยุโรป หลังจากกล่าวเปิดงาน ได้มีการกล่าวสุนทรพจน์หลักโดยผู้ชำนาญการที่มีชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยคุณรีเบกกา เหลียง (Rebecca Leung) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของเอชเอสบีซี ได้กล่าวถึงการสนับสนุนมหาวิทยาลัยปักกิ่งและวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่มีมาอย่างยาวนานของเอชเอสบีซี ตลอดจนความสำคัญของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับอังกฤษ นอกจากนี้ คุณแดเนียล ข่าน (Daniel Kahn) จากคิวเอส เวิลด์ ยูนิเวอร์ซิตี แรงกิงส์ ได้นำเสนอในประเด็นที่ว่า การศึกษาด้านธุรกิจระหว่างประเทศเป็นที่ต้องการน้อยลงในหมู่นักศึกษาชาวจีน
หลังจากกล่าวสุนทรพจน์หลักแล้ว ได้มีการอภิปรายระหว่างนักวิชาการและแขกรับเชิญ เพื่อสำรวจความท้าทายและโอกาสของการศึกษาด้านธุรกิจจากมุมมองต่าง ๆ โดยศาสตราจารย์สุมิตรา ดุตตา (Soumitra Dutta) คณบดีของวิทยาลัยธุรกิจซาอิด (Said Business School) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการศึกษาด้านธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเอไอและบิ๊กดาต้า ขณะที่ศาสตราจารย์นีล แม็กลีน (Neil Mclean) ผู้อำนวยการภาควิชาภาษาและการสื่อสารของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเข้าใจและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในการศึกษาด้านธุรกิจ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์อเลสซานโดร สปาโน (Alessandro Spano) ผู้อำนวยการศูนย์จีนแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการศึกษาข้ามวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีคุณอ้ายหมิน หยาง (Aimin Yang) ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน สาขาลอนดอน ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบ่มเพาะผู้มีความสามารถทางธุรกิจแบบผสมผสาน และศาสตราจารย์พาลี สมาร์ต (Palie Smart) คณบดีวิทยาลัยการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการศึกษาแบบสหวิทยาการและความร่วมมือ
ศาสตราจารย์เผิงเฟย หวัง (Pengfei Wang) รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเซินเจิ้นแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University Shenzhen Graduate School) และคณบดีวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สรุปการประชุมโดยเน้นถึงความสำคัญของการหารือเกี่ยวกับความท้าทายที่การศึกษาด้านธุรกิจต้องเผชิญในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ศาสตราจารย์เปาโล แทสกา (Paolo Tasca) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ดีแอลที ไซเอนซ์ (DLT Science Foundation) ได้กล่าวปิดการประชุม พร้อมกับประกาศมอบทุนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและการวิจัยบล็อกเชนของวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง วิทยาเขตสหราชอาณาจักร อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานฉลองครบรอบก็คือ ปาฐกถาในหัวข้อ “เศรษฐกิจจีน: สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต” (China’s Economy: Current Situation and Future) โดยศาสตราจารย์เหวิน ไห่ ซึ่งดึงดูดผู้ฟังจำนวนมาก โดยศาสตราจารย์ไห่ได้แบ่งปันมุมมองเชิงลึกของเขาเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคของจีนและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการเติบโตในอนาคต
งานนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิชาการ คณาจารย์ และศิษย์เก่า ได้มาร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของวิทยาลัยธุรกิจเอชเอสบีซีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง วิทยาเขตสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง รวมถึงติดตามความท้าทายใหม่ ๆ ของการศึกษาด้านธุรกิจในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย