กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมนำผลงานวิจัยและงานบริการอุตสาหกกรรม ผลสำเร็จจากการพัฒนาต่อยอดโดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จัดแสดงโชว์ในงาน ProPak Asia 2023 นิทรรศการแสดงสินค้าและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ ครั้งที่ 30 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14–17 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค และงาน Fi Asia 2023 นิทรรศการแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านส่วนผสมอาหารแห่งเอเชีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20–22 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทยและหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน อาทิ วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดการสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอาหารทั้ง Eco System ของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันและเป็นผู้นำของตลาดโลกได้ ทั้งในแง่กระบวนการผลิต (Processing) รวมถึงการบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็น Hub แห่งนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวในฐานะที่ วว. ร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดงาน ProPak Asia 2023 และ Fi Asia 2023 ว่า มุ่งเสนอผลงาน วว. ที่มีส่วนช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ MSMEs , SMEs ในเรื่อง Processing และ Packaging ทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากร เครื่องมือที่สามารถช่วยผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานทั้งในประเทศและระดับสากล ได้รับการยอมรับ สามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่พร้อมบริการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัยและยกระดับการผลิต หรือทดลองผลิตเพื่อทดลองตลาด ก่อนยกระดับสู่เชิงพาณิชย์ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดย วว. พร้อมให้บริการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มมูลค่าหรือความต้องการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (Idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (Prototype & Solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (Scale Up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (Product & Management System) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น
“…ปัจจุบันงานวิจัยไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือองค์ความรู้ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผลิตภัณฑ์แทบทุกประเภทมีบรรจุภัณฑ์เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีการใช้วัสดุและเทคโนโลยีการผลิตและการบรรจุที่ถูกต้องเหมาะสม จะสามารถช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น สามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับเมื่อเริ่มต้นผลิต รวมทั้งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น งานวิจัยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของวัสดุบรรจุภัณฑ์ เทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูป เทคโนโลยีการบรรจุ บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามความต้องการการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ภายใน เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคหรือทำหน้าที่เป็นภาชนะไปด้วยในตัว ต้องผ่านความร้อนจากเตาไมโครเวฟ หรือสามารถทนความร้อนของน้ำร้อนได้ เป็นต้น ล้วนเป็นผลจากงานวิจัยที่มีการนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับ trend และวิถีชีวิตในปัจจุบันของเรา ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า ในงาน ProPak Asia 2023 และ Fi Asia 2023 วว. ยังจะมีการนำเสนอ Value Chain และการเป็น Total Solution ในการช่วยผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อไปในอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง โดยปัจจุบัน วว. นำเทคโนโลยีดิจิทัล “วว. JUMP” เข้ามาใช้ในการให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระบบบริการลูกค้าออนไลน์ ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ลูกค้า และลดขั้นตอนดำเนินงาน เป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินเพื่อเป็นองค์กรดิจิทัล (Smart Organization) รวมถึงการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ลูกค้าที่มาติดต่อประสานงาน ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง “วว. JUMP” ผ่านเว็บไซต์ วว. www.tistr.or.th (https://tistrservices.tistr.or.th/) หรือค้นหาผ่าน Google โดยพิมพ์คำว่า “วว. JUMP” สามารถเข้าถึงระบบงานบริการออนไลน์ของ วว. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งค้นหางานบริการต่างๆ ของ วว. หรือ พิมพ์ข้อความที่สงสัย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตอบคำถามให้แก่ทุกท่าน จากการที่ลูกค้าส่งโจทย์และรับการแก้ไขจาก วว.
“…วว. พร้อมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จและเดินเคียงข้างผู้ประกอบการ ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และงานบริการ ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อนงานในทุกมิติ สร้างองค์ความรู้ด้าน วทน. ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้และบริบทของพื้นที่ สร้างระบบการดำเนินงานที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายทางธุรกิจทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานของ วว. ในปี 2565 ก่อให้มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 16,770.7416 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.69 เท่า เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร
ปัจจุบัน วว. มีทิศทางการวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขา ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ส่งเสริมสนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ โดย วว. ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 รายการต่อปี มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 10,000 ราย ช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50% ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ OTOP วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ MSMEs , SMEs, Startup ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ…” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวสรุปในตอนท้าย