วันที่ 10 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพ : การยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน บ้านใหม่พัฒนา อำเอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานการตรวจเยี่ยม และมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมด้วยคณะเครือข่ายสัมมาชีพให้การต้อนรับ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุน มศว. ในการการจัดการความรู้จากเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนที่จะนำไปสู่การต่อยอดยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนนั้น อาศัยองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานวิจัยโครงการนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน: การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน คือ รูปแบบนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน และแนวทางการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมสัมมาชีพชุมชน ร่วมกับการใช้แนวคิดการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยที่สำคัญ ตั้งแต่การเรียนรู้ การนำมาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมหรือกระบวนการใหม่ และนำไปดำเนินการหรือปฏิบัติให้เกิดความยั่งยืน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ภายใต้หลักคิด คือ 1) การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์ 2) ชุมชนมีความสมัครใจในการพัฒนาตนเอง 3) กระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง 4) ความยืดหยุ่น สอดคล้อง เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ชุมชน 5) ความร่วมมือและยอมรับเป็นเครื่องมือเชื่อมประสานบูรณาการงานของภาคีการพัฒนา นอกจากนี้ยังอาศัยกรอบแนวคิดการประเมินมาตรฐานต่าง ๆ ด้านอื่นประกอบด้วย
รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว. กล่าวว่า พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายช่วงที่ 1 คือ กลุ่มอาชีพทอผ้าไทเลย บ้านก้างปลา จังหวัดเลย กลุ่มอาชีพท่าผาเซรามิก จังหวัดลำปาง และกลุ่มอาชีพชุมชนดงตะขบ จังหวัดพิจิตร โดยเป็นการลงพื้นที่คืนข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการวิจัยของโครงการนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน: การยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้เครือข่ายสัมมาชีพนำองค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูลจากพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 พื้นที่ไปใช้ประโยชน์และยกระดับการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนของกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายช่วงที่ 2 แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ คือ จังหวัดน่าน จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพัทลุง และจังหวัดบุรีรัมย์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์สำคัญจากการคัดเลือกต้นแบบสัมมาชีพชุมชนตัวอย่าง คือ หลัก 3 มี ได้แก่ มีสัมมาชีพ มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และหลัก 2 ไม่ ได้แก่ ไม่ติดยาเสพติด และไม่มีหนี้นอกระบบ มาใช้เป็นแนวทางการพิจารณาร่วมกับเกณฑ์การเคยได้รับรางวัลที่เกี่ยวกับการเป็นชุมชนต้นแบบ
ผลการดำเนินงานกระบวนการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยกร่างคู่มือการประเมินมาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนจากพื้นที่ตั้งต้น 3 จังหวัด คือ ลำปาง เลย และพิจิตร โดยแบ่งกรอบมาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ออกเป็น 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1) มาตรฐานด้านชุมชนและการเรียนรู้ 2) มาตรฐานด้านเครือข่ายและนวัตกรรม 3) มาตรฐานด้านองค์กรชุมชนและปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน 4) มาตรฐานด้านผู้นำเครือข่ายและการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ทางคณะผู้ตรวจเยี่ยมได้เข้าสักการะและรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพ จากพระชยานันทมุนี, ผศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อีกด้วย สำหรับโครงการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพ : การยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายพื้นที่เกิดการเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับและการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และหน่วยงานสนับสนุนการขยายรูปแบบนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพและการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ให้เกิดการยกระดับการทำงานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและเกิดการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยอมรับร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป