สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา ในการพัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โค้ดของปลาฉลามและกระเบนในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ข้อมูลดีเอ็นเอใช้จำแนกชนิดฉลามและกระเบนร่วมกับสัณฐาน ช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์กลุ่มนี้ในหลายระดับ ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจากฉลามและกระเบน ที่มีการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ครีบปลาฉลามตากแห้ง ครีบปลาฉลามบรรจุกระป๋อง อาหารที่ทำจากชิ้นส่วนของปลาฉลามหรือกระเบน ซึ่งข้อมูลพันธุกรรมจะถูกนำมาช่วยระบุชนิดของปลาฉลาม-กระเบนที่เป็นชนิดคุ้มครองและหายาก ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ละเมิดกฎหมายได้ และทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวังในการใช้วัตถุดิบด้วย ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยเฉพาะสัตว์น้ำหลายชนิด นับวันจะลดจำนวนลง บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาฉลามและกระเบน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม รูปแบบการทำประมงที่ไม่เหมาะสม รวมถึงความนิยมในการบริโภคครีบปลาฉลาม ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมหามาตรการเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ รวมทั้งงานวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพาที่ได้ร่วมกันวิจัยออกแบบพัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอ เพื่อใช้ในการจำแนกชนิดจากความหลากหลายทางพันธุกรรมนำไปสู่การพัฒนาฐานของมูลของประเทศไทยในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันศุกร์ เสนานาญ แห่งภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมประมง ในการทำวิจัย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในกลุ่มปลาฉลามและกระเบน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากกว่า 1,100 ชนิดทั่วโลก แต่ในระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดวิกฤต และหลายชนิดมีความชุกชุมลดลงมากกว่า 70% จากที่เคยมีในอดีต และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการประมงที่เกินกำลังการทดแทนของประชากร (overfishing) การทำประมงอย่างไร้การควบคุมและทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงผลกระทบอื่นจากมนุษย์ที่ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยมีสภาพเสื่อมโทรมลง นอกจากนี้ ความนิยมบริโภคครีบปลาฉลามในภูมิภาคเอเชีย ยังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการทำประมงปลาฉลามทั่วโลกที่มากเกินไปอีกด้วย
แม้ว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายระดับนานาชาติที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) และระดับชาติ (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) แต่สัตว์กลุ่มนี้ยังคงถูกคุกคามอย่างหนัก โดยมาตรการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนยังไม่ได้มีประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชนิดที่พบ ชีววิทยา การกระจายพันธุ์ และสถานภาพของประชากร ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการปลาฉลามและกระเบน ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2567 ที่มีความสอดคล้องกับมาตรการระดับนานาชาติ โดยระบุความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยา นิเวศวิทยา และสถานภาพทางการประมง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามและกระเบน ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้ออกแบบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการฯ ที่จะสร้างคลังความรู้ด้านดีเอ็นเอ ที่จะช่วยการจำแนกชนิดในกลุ่มที่มีสัณฐานใกล้เคียงกันจนยังไม่สามารถยืนยันชนิดได้ (look alike หรือ cryptic species) ระบุความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากร และพัฒนาเครื่องมือที่จะตรวจสอบชนิดในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากปลาฉลามและกระเบนที่ไม่สามารถระบุชนิดได้อย่างชัดเจนจากชิ้นส่วนได้
ในปัจจุบันมีการรายงานการพบปลาฉลามและกระเบนในน่านน้ำของประเทศไทย จำนวน 186 ชนิด แบ่งเป็น ปลาฉลาม 87 ชนิด และ กระเบน 99 ชนิด ทั้งนี้ ปลาฉลามและกระเบนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะถูกคุมคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้วยเกณฑ์ของไอยูซีเอ็น (International Union of Conservation of Nature, IUCN) พบว่าปลาฉลาม จำนวน 66 ชนิดจาก 87 ชนิด (ร้อยละ 60) และกระเบน จำนวน 71 ชนิดจาก 99 ชนิด (ร้อยละ 70) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งยังไม่รวมชนิดที่ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการประเมิน (ประมาณร้อยละ 10 – 20)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันศุกร์ กล่าวว่า ผลการศึกษางานวิจัยโครงการนี้สามารถพัฒนาฐานข้อมูลดีเอ็นเอของปลาฉลามและกระเบนที่พบในน่านน้ำของประเทศไทย (ประมาณ 80 ชนิดจาก 186 ชนิด) ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับสัณฐานในการสร้างความกระจ่างในการจัดจำแนกชนิดในปลาฉลามกบและปลากระเบนธง เป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินสถานะความเสี่ยงของชนิด และประชากรได้ทราบถึงการแบ่งกลุ่มประชากรของปลาฉลามที่เป็นชนิดเด่นของประเทศไทย เช่น ปลาฉลามหูดำ ที่มีกระจายทั่วทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งจะสามารถใช้ประกอบกับการวางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานที่และวิธีทำการประมงที่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และชุดตรวจสอบดีเอ็นเอของปลาฉลามที่อยู่ในบัญชีไซเตสที่จะสามารถตรวจสอบการมีหรือไม่มี ชนิดปลาฉลามในบัญชีในผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว (ประมาณครึ่งวัน) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถออกแบบมาตรการควบคุมการค้าปลาฉลามระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม