นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร คิดค้นเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัม
ต่อวัน จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%
ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น