วันที่ 10 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย (ค.พ.ท.) จัดเสวนาทางวิชาการ “อนาคตและทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะ” ในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตแพะของประเทศไทย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี นาพรพม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล มูลมณี หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ฯ ณ NSP Rice Grain Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตแพะของประเทศไทย” ว่า วช. มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงแพะ แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเลี้ยงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีขนาดเล็ก เลี้ยงง่าย ให้ผลตอบแทนได้รวดเร็ว ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากแพะ ทั้งเนื้อแพะและน้ำนมแพะ มีการขยายตัวมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตแพะไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งมีการส่งออกผ่านประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 7-8 แสนตัว ต่อ ปี แต่ความต้องการอยู่ที่ประมาณ 1.2 – 1.5 ล้านตัว ต่อ ปี
วช. เล็งเห็นความต้องการแพะจึงสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กลุ่มเรื่องการเพิ่มมูลค่าแพะเชิงเศรษฐกิจ ให้แก่เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ รวมถึงให้มหาลัยช่วยให้ผู้เลี้ยงแพะได้รับความรู้ในด้านการปรับปรุงพันธุ์แพะ ด้านพืชอาหารสัตว์ อาหารแพะ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านผสมเทียม ด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดคือจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นจาก 60,000 คน เป็น 80,000 คน การเพิ่มขึ้นของจำนวนแพะทั้งประเทศจากประมาณ 800,000 ตัว เป็น 1,600,000 ตัว
ภายใน 3 ปี วช. คาดว่าแพะจะเพียงพอกับความต้องการในประเทศและการส่งออก เนื่องจากมีการกระจายน้ำเชื้อแพะพันธุ์ดีผ่านน้ำเชื้อแช่แข็งและการผสมเทียม โดยได้ลูกที่เกิดจากการผสมเทียม 1,000 ตัวต่อปี ทำให้เกษตรกรมีแพะพันธุ์ดีกระจายออกไป เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เกิดนวัตกรรมในการผลิตอาหารคุณภาพ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อและนม อาทิ ครีมบำรุง น้ำหอมจากขนแพะ และมีโรงงานแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP ด้วย
การเสวนาทางวิชาการ ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ต่อประเด็นอนาคตและทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะ มีผู้ร่วมเสวนาฯ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์, ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์, ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นายวีระศักดิ์ เนตรเกื้อกูล ประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย, นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์ชมภู กรรมการผู้จัดการ หจก. ป.ณวริศ ฟาร์ม
ตัวแทนเกษตรกรผู้รวบรวมแพะแกะในพื้นที่ และนายวิเชษฐ์ ฟักแฟง รองประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย
นอกจากเสวนาทางวิชาการฯ ในวันนี้ วช. ได้ร่วมจัดกิจกรรมการประกวดแพะ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. เวทีการประกวดแพะ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โซน 5 ฝ่ายประกวดสัตว์