ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยจาก 4 หน่วยงาน เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน “E-NNOVATE 2022 Edition: International Innovation Show” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2565 ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ ในรูปแบบออนไซต์ และระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดย Innovative Business Solutions (IBS) หน่วยงานเอกชนด้านการส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ โดยมีนักวิจัย/นักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ นำผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานจำนวน 145 ผลงาน จาก 15 ประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลต่างๆ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 4 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 2 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Award) ซึ่งเป็นการได้รับสิทธิ์ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอผลงานในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ จำนวน 2 รางวัล ดังนี้
รางวัลเหรียญทอง จำนวน 4 ผลงาน ดังนี้
1. ผลงาน นวัตกรรมเครื่องปลุกเตือนทานยาสำหรับผู้สูงอายุโรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart Medi Box Alert Innovation for the elderly with cardiovascular disease)
Heart Medi Box Alert เป็นกล่องยาสำหรับผู้สูงอายุโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ช่วยในการปลุกเตือนการรับประทานยา และสามารถแจ้งเตือนแก่ผู้ดูแล และบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น มีอาการเจ็บแน่นอก ที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและการเสียชีวิตตามมา นวัตกรรมนี้พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการจัดการตนเองในผู้สูงอายุ ให้มีการรับประทานยาต่อเนื่อง ตรงเวลา ครบถ้วน ตามแผนการรักษา และได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการบันทึกข้อมูลการรับประทานยาโดยอัตโนมัติบน cloud เป็นข้อมูลให้กับบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ในการวางแผนดูแลผู้ป่วยต่อไป
โดย อาจารย์ดุษฎี ก้อนอาทร และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
พร้อมได้รับรางวัลพิเศษ (Special Award) ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอในเวที “2022 Smart Expo, The 2nd Youth Patent Incubation Exhibition” ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. ผลงาน นวัตกรรมเครื่องควบคุมสารน้ำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (The volume control innovation for patients with congestive heart failure)
นวัตกรรมเครื่องควบคุมสารน้ำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อช่วยส่งเสริมการจำกัดน้ำดื่ม และป้องกันการเกิดภาวะน้ำเกิน นวัตกรรมสามารถคำนวณปริมาณน้ำดื่มต่อวันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล มีเทคโนโลยีเซนเซอร์วัดปริมาณสารน้ำเข้า-ออกร่างกาย มี Web Application สำหรับผู้ใช้งานในการติดตามสถานะสารน้ำเข้า-ออกร่างกายของตนเองแบบ real-time มีการแจ้งเตือนเมื่อดื่มน้ำใกล้ถึงปริมาณที่กำหนด สามารถประเมินอาการเตือนของภาวะน้ำเกิน และนวัตกรรมช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะน้ำเกิน พร้อมทั้งมีคำแนะนำให้แบบอัติโนมัติ มี Web Application ที่บุคลากรการแพทย์สามารถดูข้อมูล การควบคุมสารน้ำ อาการเตือนภาวะน้ำเกิน เพื่อใช้ในการวางแผนดูแล และสามารถโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real-time
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัญชนา หน่อคำ และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
3. ผลงานการผลิตภาษามือเพื่อส่งเสริมรายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน (Sign Language Production to Promote Historical Tourism Television Program for Deaf)
ผลผลิตจากการสร้างสรรค์สื่อรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์กับการนำเสนอภาษามือทางโทรทัศน์ในรูปแบบของขนาดช่องทางในการนำเสนอภาษามือที่มีขนาดประมาณ 30-40% เพื่อให้เอื้อต่อการมองเห็นของคนหูหนวกและการสื่อสารของภาษามือที่มีความชัดเจน ไม่ทำให้เนื้อหาในสื่อหลักมีความสำคัญน้อยลง เป็นต้นแบบในการนำเสนอของรายการโทรทัศน์ให้กับคนหูหนวก
โดย นางสาวกุลภัสสร์ กาญจนภรางกูร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ สอนเขียว
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
4. ผลงาน ผลิตภัณฑ์เยลลี่ไร้น้ำตาลจากสารสกัดเปลือกมังคุดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย S.mutansซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ (Gummies from mangosteen peel extract to inhibit Streptococcus mutans. bacteria which causes tooth decay)
ฟันผุเป็นหนึ่งในปัญหาโรคทางช่องปากที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆของไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย S.mutans และพบว่าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถยับยั้งโดยสารสกัดจากเปลือกมังคุด คณะผู้ประดิษฐ์จึงตัดสินใจทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเยลลี่ไม่มีน้ำตาลที่บรรจุสารสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งเหมาะสำหรับทุกวัย
โดย นางสาวพรชิตา บุญมาวงศ์ และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 2 ผลงาน ดังนี้
1. ผลงานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมูลค่าสูงจากส่วนเหลือทิ้งกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ (Innovation product from the by-products cold-pressed virgin coconut oil (CVCO) production process for the new normal consumers)
เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาการใช้ส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์มาเป็นวัตถุดิบและส่วนผสม โดยใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อาหารเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการค้าและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเน้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์และมีคุณสมบัติเชิงสุขภาพ อีกทั้งเป็นการลดส่วนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (zero waste)โดย ดร.ประมวล ทรายทอง และคณะ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พร้อมได้รับรางวัลพิเศษ (Special Award) ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงเบียนผลงานสำหรับการนำเสนอในเวที “INEX 2022 International Invention Fair” ณ สาธารณรัฐอินเดีย
2.ผลงาน การพัฒนาอุปกรณ์รองรับกล้องขนาดเล็ก (The Development of Small Camera Support Equipment)
เทคนิคดอลลี่ คือ การเคลื่อนกล้องคล้ายกับการเดินเข้าไปหาหรือถอยออกมาจากวัตถุ และแทนสายตาของผู้แสดงที่กำลังเดินเข้าไปด้วยตัวเอง กล้องจะเคลื่อนไปทั้งตัว ดังนั้นต้องวางกล้องไว้บนขาตั้งที่มีล้อหรือรางเลื่อน เพื่อให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างนุ่มนวล และรองรับขนาดที่ใหญ่ของน้ำหนักกล้อง รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ในการติดตั้ง รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งเนื่องจากบางสถานที่พื้นที่จำกัดอาจไม่สะดวกต่อการติดตั้งดอลลี่ขนาดใหญ่และใช้เวลานานในการติดตั้ง จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์รองรับกล้องขนาดเล็ก ให้มีลักษณะมินิดอลลี่สามารถใช้งานได้ทุกพื้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมล สังข์ทอง และคณะ จากคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี