กระทรวงศึกษาธิการ วันที่(2 มีนาคม 2564) ที่ผ่านมา -ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมปฏิบัติหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเต็มความสามารถ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อน สานต่อนโยบาย 10 ภารกิจหลัก พร้อมแต่งตั้งทีมที่ปรึกษา 10 ท่าน ทีมโฆษกฝ่ายการเมือง และเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงทันทีหลังมีมติ ครม. เพื่อมอบแนวทางปฏิบัติ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนเองมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่และจะทำอย่างเต็มความสามารถในตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะขับเคลื่อน เดินหน้า และสานต่อนโยบาย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรงเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ โดยกระทรวงศึกษาจะมุ่งสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งจะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกมิติที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด โดยโครงการที่จะต้องเร่งรัดและทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ประกอบไปด้วย
1.โครงการบูรณาการการศึกษาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียน 3 กลุ่ม คือ 1.โรงเรียนคุณภาพของชุมชน 2.โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และ 3.โรงเรียน Stand Alone
2.เดินหน้าโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 โดยจะขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STI อย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันมากขึ้น
3.สร้างจิตอาสาครู และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะสร้างครูที่มีจิตอาสา เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นและนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป การทำงานจิตอาสา ก็คือการทำงานเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ถือเป็นการใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์เหตุผล สามารถแยกแยะเรื่อง การคิดถูกต้อง คิดดี ตามหลักวิชาการ ด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน
4.ขับเคลื่อนการนำศาสตร์พระราชามา มาสู่การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม
- 5. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาโค้ดดิ้ง และภาษาอังกฤษ โดยได้มีการเซ็นMOUกับสถานทูตแคนาดา ในการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติจำนวน 300 คน ด้านภาษาโค้ดดิ้งได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตร C4T Plus ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้ง Coding for Teacher ที่ได้มีการขยายไปกระทรวงต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติและร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้โค้ดดิ้งครอบคลุมหลากหลายอาชีพมากยิ่งขึ้นภายใต้แนวคิด “Coding for All & All for Coding” ให้เป็นรูปธรรม
6.การส่งเสริมการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ด้วยสื่อร่วมสมัย และจัดทำ AR เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตรมีการอบรมกระบวนการสอนโดยใช้คลิปประวัติศาสตร์น่ารู้จำนวน 10 คลิป ที่ได้จัดทำเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงความสนใจของเด็กในยุคปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนของครูให้ร่วมสมัย
7.ยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของอาชีวะเกษตร และประมง โดยจะพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตร ถ่ายถอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชนและชุมชน พร้อมยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนสู่ Digital Farming โดยเอา STI มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศห้องเรียนธรรมชาติในสถานศึกษาต้นแบบอาชีวะเกษตรและประมงทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนอาชีวะเกษตรได้เรียนรู้ ฝึกฝน ฝึกตน ฝึกทักษะชีวิตกับธรรมชาติ
8.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้ หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำใน ชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าอาชีวะเกษตรจะสร้างชาติ ด้วยชลกรที่จะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทย
9.ผลักดันข้อเสนอในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีครู ที่เป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน
10.การมอบหมายให้สภาการศึกษาติดตาม กำกับ และเร่งผลักดันในเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิรูปการศึกษาพ.ศ. ที่ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีส่วนสำคัญ ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย นำโดย นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ประธานคณะที่ปรึกษา, ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษา, นายศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ปรึกษา ฯ
พร้อมกันนี้ยังได้มีการแต่งตั้งทีมโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร, ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คนที่ 1 เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายชยพงศ์ สายฟ้า รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คนที่ 2 เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา