กระทรวง อว. เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นในภาคเหนือ สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อเพิ่มโอกาสการตลาด ผ่านความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลัก นำโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. พร้อมด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือ เชียงใหม่ เชียงราย และกำแพงเพชร
วันนี้ (22 ส.ค.65) ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการ วช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย และ มรภ.กำแพงเพชร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. วช. และ มรภ. เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าว เปิดงานว่า วันนี้ได้ไปตอบกระทู้เรื่องโทคาแมก ใช้ความรู้ทางเทคนิคสูง ได้รับฟังการบรีฟจาก ผอ.ธวัชชัย เพื่อไปตอบกระทู้ที่วุฒิสภา โดยชี้ว่า เราจะมองข้ามวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย หรือทำเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ เมื่อปีที่แล้วผมได้กล่าวถึงการสร้างยานอวกาศโดยคนไทย ให้ไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ในเวลาไม่เกิน 7 ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยการตอบกระทู้ในวันนี้ ได้เปรียบเทียบให้วุฒิสภาทราบว่า โทคาแมก เหมือน การสร้างดวงอาทิตย์จำลองบนพื้นโลก ที่นครนายก โดยจีนได้ให้ชิ้นส่วนแกนกลางแก่เรา นักวิทยาศาสตร์ไทยไปทดลองเดินเครื่องแล้วทำได้ จากนั้นจะถอดเครื่องและประกอบเครื่องเพื่อมาติดตั้งในประเทศไทย เกิดเป็นพลังงานสะอาด แบบที่เกิดบนดวงอาทิตย์ได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยเป็นเอเชียชาติที่ 5 หลังจาก จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ที่ทำเครื่องโทคาแมกได้ คนในกระทรวง อว. ต้องเชื่อมั่นว่าเราจะเป็นชาตินำหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน อย่างแน่นอน ขอเน้นย้ำว่า อย่างแน่นอน การตั้งกระทรวง อว.
เป็นเรื่องพิเศษ เมื่อก่อน สทน. อยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ / วช. ขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี / มรภ. อยู่กระทรวงศึกษาฯ ในตอนนี้มารวมกันแล้ว พวกเราต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ การได้เห็น MOU วันนี้ระหว่าง สทน. กับ มรภ. 3 แห่งภาคเหนือ เอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปช่วยถนอมอาหารพื้นถิ่น เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เราทำ U2T for BCG ปีนี้เป็นปีที่ 2 จะทำ 3 เดือน ผ่านไปแล้วเดือนครึ่ง ได้จัด Hackathon มี 4 ทีม ที่ได้รางวัล เป็น มรภ. ได้รางวัลชนะ 2 ประเภท / มทร. ชนะ 1 ประเภท / ปัญญาภิวัฒน์ อีก 1 ประเภท แสดงว่าจะดูแคลน มรภ. มทร. และ ม.เอกชน ไม่ได้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมได้กล่าวในที่ประชุม ทปอ. ว่า หลักสูตรของเราส่วนใหญ่ เอามาจากตำราต่างประเทศที่มองไม่เห็นจุดแข็งของคนไทย เราต้องดูว่าคนไทยเก่งเรื่องอะไร แล้วเปิดวิชาเรื่องที่คนไทยเก่ง ไม่ต้องไปลอกหลักสูตรจากชาติตะวันตกทั้งหมด มรภ./มทร. ต้องดูว่าเราอยู่ที่ไหน คนท้องที่เก่งเรื่องอะไร แล้วเราก็ไปสอนเรื่องนั้นๆ ให้เก่ง เพราะคนไทยมี DNA ที่เก่งในเรื่องสร้างสรรค์ เช่น รำโนราห์ หรือเดินแบบแฟชั่นได้แม้จะไม่เคยมีการสอนจริงจัง สรุปว่า อาจทำได้สองทางคือ เอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาสอน และ เอาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มาทำให้ดี ท้ายสุดนี้ ขอชื่นชมงานในวันนี้และอย่าให้เป็นเพียงกิจกรรมที่จัดไปเรื่อยๆ แต่ขอให้มีหมุดหมายการใช้ประโยชน์ เชื่อมโยง มรภ. กับหน่วยงานวิจัย ให้ทำงานร่วมกัน
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน ด้วย “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้การฉายรังสีในอาหารเป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น โดยในปี 2564 – ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สทน. ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในภาคกลาง และภาคใต้ ประกอบด้วย มรภ.พระนครศรีอยุธยา /มรภ.ธนบุรี/ มรภ.ราชนครินทร์ / มรภ.สุราษฎร์ธานี / มรภ.สงขลา /มรภ.ภูเก็ต ร่วมกันจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ โดยมีอาหารพื้นถิ่นที่ส่งเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 301 ผลิตภัณฑ์
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในพื้นที่ “ภาคเหนือ” โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือเชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร โดยในส่วนของ สทน. กับ วช. และ มรภ.ทั้ง 3 แห่ง จะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี มีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
“การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับอาหารพื้นถิ่น ในแต่ละภูมิภาคของไทย ด้วยการฉายรังสี เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ สทน. โดยนอกเหนือจากความปลอดภัยในการบริโภคของคนไทยแล้ว สทน. ยังต้องการให้อาหารพื้นถิ่นของไทย เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศด้วย เพราะประเทศไทยของเรา ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย โอกาสนี้ จึงอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ กับ สทน.ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้นครับ” ผอ.สทน.กล่าวทิ้งท้าย