คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมเปิดนิทรรศการ (Open House) และนำเสนอผลงาน ภายใต้โครงการรจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2566 โดยมุ่งเน้นจัดแสดงนิทรรศการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมงาน ที่ อาคารเอนกประสงค์ และห้องโถงกลางชั้น 1 อาคารมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดยมีท่าน ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ให้เกียรติเป็นประธาน
ในงาน นอกจากชุดการแสดงพิเศษจากน้อง ๆ สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย แล้วยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Diversity TV ไทย” ในด้านความหลากหลายทางพหุนิยมของกิจการโทรทัศน์ หรือ Diversity and Pluralism เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนากิจการสื่อ และกิจการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้มิติด้านการกำกับดูแล และการส่งเสริมความหลากหลายด้านกิจการโทรทัศน์
โดยมีผู้คนหลากหลายในอาชีพและช่วงวัย เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน อาทิ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการอิสระ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำศูนย์แม่โขงศึกษา นักศึกษาจากสถาบันเอเชียศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม อดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว คุณสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และคุณอัครวุฒิ จันทร์ขจร ผู้อำนวยการสร้างรายการโทรทัศน์ “โรงเรียนของหนู” นอกจากนั้นยังมี กสทช. นักวิชาการ ผู้แทนสมาคมที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์การและองค์กรวิชาชีพสื่อต่าง ๆ สำนักข่าว รวมถึงผู้แทนจากช่องทีวีดิจิทัลจำนวนหนึ่ง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ ซึ่งได้ให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรทัศน์ในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูง
ซึ่งดำเนินรายการเสวนา โดย คุณวารินทร์ สัจเดว ผู้ประกาศข่าว ช่อง TNN16 โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการแลกเปลี่ยนความเห็นมาก ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชม โทรทัศน์ภาคพื้นดิน ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียว เนื้อหาท้องถิ่นที่หายไป บริการเพื่อผู้พิการไม่ตอบโจทย์ทั้งผู้รับสารและผู้ประกอบการ รายการเด็กที่ถูกทิ้ง ปัญหาการถ่ายทอดสดกีฬา จากกฎ Must have, Must carry ที่เหมือนจะจบ และ OTT ทีวีหลอมรวมที่ต้องรอกฎหมาย