เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย และสถานทูตออสเตรเลีย, มูลนิธิอานันทมหิดล, สถานี โทรทัศน์ช่อง 9 อสมท., กรุงเทพมหานคร และสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกันจัดทำ โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ โดยมี ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชียฯ เป็นหัวหน้าในการจัดทำโครงการ พร้อมเผยถึงวัตถุประสงค์ว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นนำร่องที่โรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) เขตดินแดง กทม. ซึ่งได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และมีผู้นำทางวิชาการหรือครูเป็นผู้ขับเคลื่อน ในการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของเด็กในด้านต่างๆ ภายในงานได้มีกิจกรรมวาดรูปและเขียนบทความกับนักเรียน พร้อมกับนำเว็บพอร์ทัล www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้จากทั่วโลก มาแนะนำให้เด็กๆ ได้รู้จัก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ได้เปิดเผยว่า “โรงเรียนสามเสนนอก ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนดีมีทุกที่ เพราะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยม ศึกษาปีที่ 3 เปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนได้เข้ามาศึกษาภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีส่วนผลักดันให้นักเรียนกล้าแสดงออก ทั้งในเรื่องดนตรี, กีฬา และดิจิตอล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญ เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง แต่โรงเรียนในสังกัด กทม.ก็มีความพร้อมในทุกด้าน ที่จะส่งเสริมด้านวิชาการ และความรู้ความสามารถที่เด็กถนัด อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงครับ”
ด้าน นายธนะ ตันติสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) กทม. ได้กล่าวว่า “การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นวิธีการซึ่งช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักแสวง หาความรู้ด้วยตนเอง อันก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้นักเรียนได้เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีความสุข อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ซึ่งที่โรงเรียนสามเสนนอกเด็กจะมีความสามารถทั้งในด้านวิชาการ และกิจกรรมคือในด้านดนตรีและกีฬา โดยที่ผ่านมาสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 หรือ ม.4 ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ทางโรงเรียนได้มีการปรับการเรียนการสอนเป็นในระดับอนุบาลและประถมศึกษาให้เรียนแบบ Online 100 % ส่วนระดับมัธยมเป็น On Site คือมาเรียนที่โรงเรียนแบบมีระยะห่าง ห้องละไม่เกิน 25 คน โดยมีการสุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ หากตรวจพบก็ให้หยุดเรียนไป ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีครูหรือผู้นำทางวิชาการ ที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ปกครอง เพื่อ On Hand นำหนังสือเอกสารต่างๆ ไปให้นักเรียนเพื่อทบทวนตอนอยู่ที่บ้าน รวมถึงเรื่องออนไลน์ที่จะต้องผลิตคอนเทนต์ในวิชาหลักๆ แล้วนำไปแปะคลิปไว้ในไลน์กลุ่มของห้องเรียน ซึ่งจะสามารถย้อนกลับไปดูเมื่อไรก็ได้ ซึ่งการทำคอนเทนต์ให้มีเนื้อหาที่เด็กเข้าใจง่ายก็เป็นเรื่องยาก เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของทั้งครูและนักเรียน ที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจ นอกจากนี้ในการเรียนออนไลน์ยังต้องมีแอดมิน ที่จะต้องคอยดูเวลานักเรียนหรือผู้ปกครองมีคำถาม
ต้องขอให้กำลังใจกับบุคลากรทางการศึกษาทุกคน เพราะการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าสมัยก่อนมากมายนัก แต่การปรับตัว ความมุ่งมั่น การทุ่มเทเสียสละ จะนำพาให้การจัดการศึกษาเดินไปสู่อนาคตที่ดีได้ คุณครูต้องมีพลัง กำลังกาย และกำลังใจในการทำงาน แต่สิ่งเหล่านี้จะหวังว่าเกิดขึ้นง่ายๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เราคือผู้ที่เริ่มต้นและต้องเดินต่อไปให้ได้ การทำงานอาจจะมีอุปสรรคเหนื่อยท้อและเสียเวลาบ้าง แต่ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราได้พักแล้วกลับมารวบรวมพลัง เราจะเดินต่อไปได้ เพราะเด็กๆ รอเราอยู่ครับ”
มาที่ ด.ช.ปรวีร์ รุ่งอุทัย (ฟิวส์) เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนสามเสนนอก ได้กล่าวว่า “ผมเขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับวิกฤติโควิด 19 กับการศึกษาไทย ที่ทำให้การเรียนยากขึ้น เพราะต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์ ทำให้ฟังเนื้อหาไม่ทัน บางครั้งสัญญาณอินเตอร์เนตไม่ดี ก็ทำให้เสียโอกาสในการสอบเลื่อนชั้น ผมชอบการเรียนในชั้นมากกว่า ส่วนเว็บพอร์ทัล www.thailandlearning.org ที่ได้มาแนะนำก็น่าสนใจมาก เพราะมีเนื้อหาด้านการศึกษาที่ทั่วถึง รู้ว่าเด็กชอบแบบไหน มีการแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีทั้งเกมสนุกๆ และการศึกษา ผมว่าดีมากครับ” โดยผู้สนใจชมคลิปการสัมภาษณ์ฉบับเต็ม จากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอนโรงเรียนดีมีทุกที่ สร้างการเรียนรู้ ควบคู่กิจกรรม คลิก https://www.youtube.com/watch?v=NfAVij8to_k ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป