โครงการบริหารน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เตรียมจัดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ หรือ Water And Waste Management International Conference & Expo Thailand ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2565 นี้ โดยมีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม-เอกชน-สถาบันการศึกษา หนุนคุณหญิงกัลยา สานต่อศาสตร์พระราชาสู่สากล ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ก้าวสู่ปีที่ 3 พร้อมเดินหน้าจัดสัมมนายกระดับองค์ความรู้ ขยายเครือข่ายความร่วมมือ
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ ได้ดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 3 โดยมีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ในนามของตัวแทนมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่มีคุณโชติ โสภณพนิช เป็นประธาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการฯ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจน จึงได้บริจาคเงินให้โครงการเพื่อเป็นทุนแรกเริ่มในการตั้งกองทุน เป็นเงิน 100 ล้านบาท ในการนำไปบริหารโครงการโดยรวมและสร้างโมเดลต้นเเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝน บนพื้นที่อาชีวะเกษตรก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิน ช่วยสร้างงานสร้างเงินสร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเเละนวัตกรรม ให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตรรวมทั้งคนในชุมชน ตามแนวนโยบายของคุณหญิงกัลยา ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลอาชีวะเกษตร
ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ และการจัดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ รู้สึกเป็นเกียรติแทนคนไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานที่มีความสำคัญในระดับโลก เชื่อว่างานนี้จะเป็นเวทีของการเรียนรู้ ที่คนไทยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และเติมเต็มความรู้ซึ่งกันและกัน เพราะว่าความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำนี้ค่อนข้างมีความแตกต่างหลากหลายในเชิงพื้นที่ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถเติมเต็มกันได้ งานนี้ถือเป็นงานใหญ่มากต้องการความช่วยเหลือความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนต่อเนื่องอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต
นายเทียนชัย จูพัฒนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วสจำกัด กล่าวว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ CPP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินธุรกิจ โดยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสสนับสนุนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ และการจัดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ถือเป็นการยกระดับองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ในการนำความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ซึ่งในงานนี้ ซีพีเอฟร่วมจัดนิทรรศการ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรผ่านกระบวนการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจสีเขียว (Green Business) การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อบริหารจัดการการใช้น้ำในทุกกระบวนการ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบการหมักก๊าซชีวภาพ (BIOGAS) 100% คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดตลอดกระบวนการผลิต ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ CPP นำเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่ต้นน้ำ(บ่อพวง), ระบบการส่งจ่ายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในอาชีพเกษตรกรรม ต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนธรรมชาติปลอดภัยบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้น้ำของประชาชน 190 ครัวเรือน จำนวน 1,200 ไร่ เพื่อการสร้างน้ำ สร้างอาชีพ หยุดการรุกป่า อย่างยั่งยืน
ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ โกศลพิศิษฐ์กุล ตัวแทนผู้บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. และเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ระบุว่าวันนี้เราพึ่งพาน้ำเป็นสำคัญ และมีโครงการต่าง ๆ มากมาย จากการที่ได้ทำโครงการมากับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐร่วมกัน พบปัญหาว่าการบริหารจัดการน้ำ สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องบริหารจัดการน้ำร่วมกันทั้งหมด จึงเป็นที่มาว่ายินดีที่จะสนับสนุนโครงการต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งเรื่องของการสร้างพื้นฐานการศึกษาในเรื่องของน้ำด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และพร้อมจะเป็นภาคีพันธมิตรในอนาคตต่อไป
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ และนวัตกรรม (KGEO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงและตื้นตันใจที่ได้เป็นส่วนหนี่งในการขับเคลื่อนโครงการฯ มาตลอด 2 ปีกว่า จนวันนี้ก้าวสู่ปีที่ 3 เกิดหลักสูตร “ชลกร” ซึ่งถูกบรรจุเข้าสู่หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส) โดยมีพื้นฐานจากหลักสูตรช่างกลเกษตร แล้วต่อยอด 6 วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ วิชาอุตุนิยมวิทยา วิชาการจัดการน้ำผิวดิน วิชาธนาคารน้ำใต้ดิน วิชาการจัดการน้ำเสียชุมชน วิชาการจัดการดินและน้ำ และวิชาศาสตร์พระราชา ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรชลกรเชื่อว่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างมาก
นายนิธิศ ทองสอาด เลขานุการสมาคมฯ ตัวแทนสมาคมการประปาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมการประปาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่มีภาคีเครือข่ายเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ หลายภาคส่วน รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนา จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำประปาในประเทศไทยร่วมกับนานาชาติเพื่อได้มี Knowledge Sharing ในการยกระดับจากความรู้จากปัจเจกชน ไปสู่การเรียนรู้ของบุคคล การเรียนรู้ของชุมชน ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือนำความรู้นั้น ไปสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อไป