ฝ่ายพัฒนาสังคม และวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับบ้านอุ่นรัก (กระตุ้นพัฒนาการเด็ก สำหรับเด็กออทิสติก เด็กที่มีพัฒนาการช้า และเด็กสมาธิสั้น) จัดทำรายการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสอนดนตรีน้องๆ ที่เป็นออทิสติก สมาธิสั้น และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ผ่านรายการดนตรีบำบัดลูกออทิสติกด้วยตนเอง หวังเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง สามารถนำไปพัฒนาและกระตุ้นบุตรหลานได้ด้วยตนเอง
อาจารย์สานิตย์ แสงขาม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่มาที่ไปของความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากจุดยืนของมหาวิทยาลัยของเราที่บอกว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นขุมพลังแห่งปัญญาของชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมธรรมาธิปไตย หากเราสามารถช่วยสังคมในเรื่องใดได้บ้าง เราจะทำ
“สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตและบ้านอุ่นรัก ซึ่งเป็นศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็กๆ ที่เป็นออทิสติก สมาธิสั้น และมีพัฒนาการช้า หรือที่พวกเราเรียกเด็กๆ กลุ่มนี้ว่า เด็กพิเศษ นับจากตอนนั้นก็เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้วสำหรับความร่วมมือนี้ อย่างที่ทราบกันว่าครูสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไปก็ยังไม่ได้มีมากในปัจจุบัน ยิ่งหากหมายถึงครูสอนดนตรีให้กับเด็กพิเศษนั้นยิ่งหาได้ยาก เพราะบุคคลที่จะสามารถสอนหรือเข้าถึงเด็กพิเศษได้นั้นนอกจากต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ยังต้องมีความอดทน เสียสละ และที่สำคัญคือต้องมีจิตอาสา และบ้านอุ่นรักเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นธุรกิจร้อยเปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มีเงินที่จะจ้างครูสอนดนตรีที่มีค่าตัวสูงๆ ได้ นี่จึงเป็นที่มาที่ไปของความร่วมมือครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการของบ้านอุ่นรัก ความร่วมมือดีๆ นี้จึงเกิดขึ้น ฝ่ายพัฒนาสังคม และวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของบุคลากร กระบวนการสอน เป็นต้น ปกติแล้วการเรียนการสอนเด็กพิเศษมักจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก สำหรับน้องๆ ที่ผู้ปกครองขาดแคลนคุณทรัพย์จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ตรงนี้ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิตได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก หนังสือเรียนแบบภาพ เป็นหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์ และหลักสูตรการสอนดนตรีสำหรับเด็กพิเศษขั้นพื้นฐาน หนังสือเล่มนี้จัดทำโดยทีมบรรณาธิการซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยรังสิตทั้งหมด ตั้งแต่การวาดภาพประกอบ การเรียบเรียง และการตีพิมพ์ โดยนำรายได้มอบให้กับบ้านอุ่นรัก เพื่อจะได้มีรายได้สำหรับนำไปจ้างครู จ้างแพทย์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญต่อไป”
บ้านอุ่นรักเชื่อว่า ดนตรีสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็กได้ และทฤษฎีนี้น่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับเด็กพิเศษได้เช่นกัน ครูนิสิตา ปิติเจริญธรรม หรือ ครูนิ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิส ติก บ้านอุ่นรัก จึงได้ทำการทดลอง เก็บข้อมูล แล้วก็พบสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ คือ เด็กออทิสติกนั้นมีระบบประสาทสัมผัสที่ไว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หู เด็กๆ มีความชื่นชอบในการทำกิจกรรมทางดนตรี และสามารถจับตัวโน้ตได้อย่างรวดเร็ว ครูนิ่มจึงพยายามผลักดัน ส่งเสริมกิจกรรมทางดนตรี ให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นพัฒนาเด็กออทิสติก เพื่อให้รู้ว่าเด็กๆ กลุ่มนี้ก็มีศักยภาพที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
“เรียกได้ว่าเป็นความโชคดีมากๆ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ส่งอาสาสมัคร และบุคลากรเข้ามาช่วยเราในการจัดกลุ่มดนตรี และสอนดนตรีให้กับเด็กๆ โครงการความร่วมมือนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทางศูนย์ฯ และมหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดทำวีดิโอการเรียนการสอนเผยแพร่ผ่านช่องทาง Social Media เพื่อจะได้สามารถนำไปต่อยอดเผยแพร่ส่งต่อถึงเด็กพิเศษคนอื่นๆ เพื่อผู้ปกครองจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดนตรีเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด หากเด็กๆ สามารถจับจังหวะ เคาะจังหวะได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและฝึกสมาธิด้วย และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นเรื่องของความรู้สึกค่ะ เขาจะสนุก มีความสุข และรื่นรมย์ไปกับเสียงดนตรี นอกจากนี้ น้องๆ ยังจะได้เปล่งเสียงออกมา ไม่ว่าจะเป็นการคลอเสียงตามเพลง การไล่ตัวโน๊ต ในภาพรวมถือว่าเป็นการฝึกกระตุ้นพื้นฐานที่ดีและสามารถทำเองได้ที่บ้านด้วย ที่บ้านอุ่นรักเองนั้น เบื้องต้นก็รับนักเรียนได้จำนวนไม่มากนัก จึงอยากส่งต่อและเผยแพร่ความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง หรือเด็กๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสตรงนี้ เพราะ Social Media จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ สำหรับวีดิโอการเรียนการสอนดนตรีสำหรับเด็กออทิสติกนี้ จัดทำขึ้นมาทั้งหมด 8 ตอนด้วยกัน โดยเผยแพร่ผ่านทาง www.youtube.com ช่อง RSU Media Rangsit University”
“สำหรับผู้ปกครองที่หมดหวัง หมดกำลังใจ ให้ลุกขึ้นมาหายใจลึกๆ แล้วนับหนึ่งถึงพัน ทำมันให้ได้ เพื่อให้ลูกของเรายืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สอนเขา เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับเด็กพิเศษ มีแค่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง และต้องอาศัยความอดทนของผู้ปกครอง ถ้าวันนี้ไม่ได้เริ่มต้น ให้ลองเปิดคลิปตอนแรก แล้วฟังความอดทนตลอด 30 ปีของครูนิ่ม ครูไม่ได้กำไรอะไรจากโรงเรียนนี้เลย ที่ผมยอมทำโครงการนี้กับครูนิ่มเพราะใจของครูนิ่มใหญ่มากที่จะช่วยสังคม ผมเองก็คงไม่ทิ้งโครงการนี้ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมจริงๆ ยืนเคียงข้างไปกับผู้ปกครองที่มีลูกเป็นแบบนี้ ในยุคปัจจุบันมีโซเชียล มีเทคโนโลยี เด็กสมาธิสั้นมากขึ้น เราก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้ ในการช่วยเขาได้เช่นเดียวกัน” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริม