ช่วงเช้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้ การจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยร่วมกัน เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์ กับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร.  ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ สบร. นับว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนากลไกการเข้าถึงข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ในรูปแบบที่สะดวกต่อการเข้าถึง เรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามความสะดวกของกลุ่มเป้าหมาย ก่อเกิดการพัฒนาอาชีพ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป  วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม จึงมีความพร้อมในการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัย การคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้การวิจัย การจัดหมวดหมู่ การพัฒนาสื่อ เผยแพร่ และการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปปรับใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ช. ผนึก สบร. บริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ วช. สบร. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทภารกิจหลักในด้านการบริหาร และจัดการองค์ความรู้ให้มีความสมบูรณ์ หลากหลาย อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการจัดให้มีระบบการเรียนรู้สาธารณะ รวมถึงเป็นต้นแบบแหล่งบริหารองค์ความรู้ รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนที่ วช. ให้การสนับสนุน คือ การคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้ การจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยร่วมกัน รวมถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบที่สะดวกต่อการเข้าถึง และให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง
โดยความร่วมมือ วช. และ สบร. จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชน สามารถนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 ผู้สนใจสามารถเดินทางมาร่วมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 500 ผลงานได้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564