กระทรวงศึกษาธิการ (6 ตุลาคม 2564)-ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าตาม 7 นโยบายเร่งด่วน ประเดิมขยายผลการจัดการเรียนรู้ Unplugged Coding ปูพรมพื้นที่การศึกษาภาคอีสาน จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดเลย จัดอบรมครูกว่า 900 คน จาก 900 โรงเรียน วางโครงสร้างสำหรับแก้ไขปัญหาเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรม เน้นปลูกฝังกระบวนการคิด เพื่อการปฏิรูปถึงตัวเด็กโดยตรง
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งเดินหน้าสร้าง Coding Community ขยายผล ขับเคลื่อน ทุกภาคส่วน เพื่อกระจายการเรียนรู้ Coding ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกอาชีพ ตามแผนนโยบายสำคัญเร่งด่วน (Quick Win 7+) โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินโครงการขยายผลการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือ Unplugged Coding สำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดเลย ผ่านการจัดอบรมออนไลน์การจัดการเรียนรู้ฯ สำหรับครูจำนวน 900 คน จากโรงเรียน 900 โรงเรียน พร้อมผลิตสื่อวีดิทัศน์นำเสนอหลักการ แนวคิด ตัวอย่างกิจกรรมและกระบวนการจัดการเรียนรู้สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดเลย “การขยายผล Unplugged Coding 900 โรงเรียนภาคอีสานนั้น นับได้ว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ Unplugged Coding โดยใช้ต้นทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองและชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาเชิงระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นปลูกฝังกระบวนการคิด เพื่อการปฏิรูปถึงตัวเด็กโดยตรง ขอเป็นกำลังใจให้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคุณครู กว่า 900 คน จาก 900 โรงเรียน และคณะทำงานโครงการทุกคน ที่มีส่วนร่วมสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ Coding ในครั้งนี้”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา ยังกล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษากำลังปฏิรูปการศึกษาของไทยทั้งระบบ ให้มี Coding เป็นเบื้องต้น โดยอยากเห็นการศึกษาไทยนำ Coding มาประยุกต์ใช้กับทุกสาระวิชา ไม่ว่าจะเรียน Art, เรียน Science, เรียน Math, เรียน Engineer หรือเรียนดนตรีก็ตามเนื่องจากเป็นการปูพื้นฐานของความคิดก่อนลงมือปฏิบัติ การเรียนโค้ดดิ้งจึงส่งผลให้เกิดทักษะที่จำเป็น 6 ทักษะด้วยกันคือ ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงคำนวณ และ ทักษะการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการพัฒนากำลังคน และเป็นพื้นฐานทักษะในการต่อยอดไปสู่ชีวิตประจำวัน ฝึกแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน กล้าลงมือทำ ทำผิดแล้วทำใหม่ได้ สิ่งนี้คือทักษะที่อยากเห็นเด็กทุกคนและคนไทยทุกคนต้องมี เพื่ออนาคต เป็นทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้จัดทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ลดความเหลื่อมล้ำและช่วยทุเลาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในการเรียนออนไลน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน Coding for all สำหรับบุคคลทั่วไปโดยสสวท. สพฐ. และภาคีที่เกี่ยวข้อง