(กระทรวงศึกษาธิการ) วานนี้ 27 เมษายน 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดอบรม Train the Trainer วิชาการจัดการดินและน้ำ สำหรับอาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ทั้ง 4 ภาค จาก 13 วิทยาลัยเกษตรฯ ร่วมด้วยผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาทั้ง 4 ภาค ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่สร้างหลักสูตรชลกร อาจารย์วิทยาลัยเกษตรฯ ที่พร้อมจะเป็นครูชลกร ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำสู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง (วษท.) 47 แห่ง ผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนนโยบายมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี จนเกิดเป็นหลักสูตรชลกร รุ่นที่ 1 และได้เปิดสอนครั้งแรกในระดับ ปวส. ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2564 ใน 5 วิทยาลัยเกษตรภาคอีสานนำร่อง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และยโสธร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักเรียนสนใจสมัครเข้าศึกษาจนเกินจำนวนที่รับได้
โดยสำหรับปีการศึกษา 2565 นี้ ได้มีวิทยาลัยเกษตรฯ สนใจเปิดหลักสูตรชลกรเพิ่มอีกจำนวน 7วิทยาลัย จากทั้ง 4 ภาค ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, อุดรธานี, ชัยภูมิ, สระแก้ว และสุโขทัย ดังนั้นเพื่อให้หลักสูตรชลกรสามารถสอนได้อย่างทั่วถึง และมีมาตรฐาน จึงได้มีการจัดการอบรม Train the Trainer สำหรับอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรฯ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน อาทิ AMERICAN GROUND WATER SOLUTION (AGS), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน เป็นต้น มาถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้อาจารย์ได้นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนในหลักสูตรชลกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การจัดการน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ การขยายความรู้ไปสู่เยาวชนในระดับเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดการตระหนักรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย กระทรวงศึกษาธิการ โดยดิฉัน ในฐานะกำกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี มีนโยบายที่จะขยายความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำไปสู่ระดับ ปวช. และคาดหวังว่าทั้ง 47 วษท. จะเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ รวมถึงในระดับชุมชน ก็อยากให้วิทยาลัยเกษตรฯ นำความรู้ไปสู่ชาวบ้านต่อไป” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว