ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ณ โรงเรียนบ้านช่อผกา ตำบลช่อผกา อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนถือเป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมายของการศึกษาโลกที่ต้องการออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคตและสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ คือ 1. เด็กต้องเรียนอย่างมีความสุข ครูต้องมีความสุขในการสอน 2.ระหว่างเรียนต้องมีรายได้ จบแล้วต้องมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย 4.ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี แข่งขันได้ เพื่อให้สามารถอยู่ในโลก VUCA World ที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตเป็นโครงการที่ดิฉันคิดขึ้นมา โดยมีหลักคิดว่าทำอย่างไรจะทำการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการตกงาน จนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและทุ่มเท จนประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้นหลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562 ซึ่งโรงเรียนบ้านช่อผกาที่มาตรวจเยี่ยมวันนี้ ถือว่ามีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในการสร้างองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ ในภาคการเกษตร หรือเรียกว่า CODING For Farm ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดเป็นทักษะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
สำหรับโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบโดยใช้ CODING วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในภาคการเกษตร เด็กเกิดทักษะการวางแผน สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติและต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียน โดยปัจจุบันโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ในโรงเรียน ได้ขยายผลจากโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน ไปสู่โรงเรียนในสังกัดเพิ่มอีกเกือบ 400 โรงเรียน จากโรงเรียนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการมากกว่า 600 โรงเรียน ซึ่งทาง สพฐ.จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มากที่สุด รวมไปถึงโรงเรียนการศึกษาพิเศษ
นอกจากนี้ดร.คุณหญิงกัลยา และคณะฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ และโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ พร้อมรับฟังการดำเนินงานการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ซึ่งได้ผลักดันและขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายที่จะขยายผลสู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งและขยายต่อไปยังสถานศึกษาต่างๆและในทุกชุมชนทั่วประเทศ