(กระทรวงศึกษาธิการ)–ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรับหลักสูตรชลกร รุ่น 2 มีความเข้มข้นขึ้น สู่มาตรฐานสากล หลังเปิดรับสมัครปีการศึกษา 2565 ใน 11 วิทยาลัยเกษตรฯ มีนักเรียนสนใจสมัครเป็นจำนวนมาก เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีตำราเรียน “ชลกร” เตรียมเปิดหลักสูตรระยะสั้นรองรับบุคคลทั่วไป และหน่วยงานที่สนใจ หวังถ่ายทอดองค์ความรู้ สานต่อศาสตร์พระราชาให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณ พนิช) กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ได้เปิดรับนักศึกษา ระดับ ปวส. ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สาขาวิชา ช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (หลักสูตรชลกร) ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีนักศึกษาสนใจสมัครเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยหลักสูตรชลกรในรุ่นที่ 2 นี้ จะเปิดสอนใน 11 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชานี ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ และสุโขทัย
“หลักสูตรชลกร รุ่นที่ 2 มีนักเรียนให้ความสนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วิทยาลัยเกษตรฯ บางแห่งก็ปิดรับสมัครไปแล้วเพราะเต็มจำนวนที่รับได้ แต่บางแห่งยังเปิดรับได้อยู่ ถ้าสนใจให้รีบไปสมัคร เพราะถ้าวิทยาลัยฯ ไหนเต็มก็จะปิดรับในทันที ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ยังให้ทุนเรียนฟรี รวมถึงได้ขยายโอกาสการเรียนรู้เพิ่มไปอีก 5 วิทยาลัยฯ ในภาคอีสานเพื่อต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ และสู่ชุมชนได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของคุณหญิงกัลยาที่ต้องการจะสานต่อศาสตร์พระราชาและยกระดับองค์ความรู้สู่สากล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”นางดรุณวรรณ กล่าว
นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรชลกรในรุ่นที่ 2/2565 นี้ ถือเป็นการต่อยอดสู่มาตรฐานสากล มีความเข้มข้นขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มีหนังสือหลักสูตรชลกรเล่มแรก เพื่อประกอบการเรียนการสอนให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องมือประกอบการเรียนรู้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณหญิงกัลยา สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อ นอกจากนี้หลักสูตรชลกร ซึ่งเน้นองค์ความรู้ที่ได้จากผู้ปฏิบัติจริงในสายงานจริง จึงได้มีอาจารย์พิเศษ และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าเรียนอยู่ในห้องเรียน และที่สำคัญขณะนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนและเปิดรับนักเรียนหลักสูตรชลกรเข้าไปฝึกงานหาประสบการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและต่อยอดให้นักเรียนสามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานนั้นๆ ในอนาคตได้มากขึ้น
นอกจากนี้คุณหญิงกัลยา ยังต้องการขยายโอกาสการเรียนรู้หลักสูตรชลกร สู่บุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยอาจจะเปิดเป็นหลักสูตรระยะสั้นสำหรับบุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานไหนที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาฝึกอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานสนใจส่งบุคลากรเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรชลกรไปบ้างแล้ว อาทิ กองทัพบก กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เป็นต้น
ทั้งนี้หลักสูตรชลกร 6 วิชา ถูกจัดให้อยู่ในหลักสูตรช่างกลเกษตร โดยมี 6 วิชาหลักที่เพิ่มเติมเข้ามา ประกอบด้วย 1.หลักการอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาเบื้องต้น 2.การบริหารจัดการน้ำเบื้องต้น 3.หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน 4.การบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน 5.หลักการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำและดิน และ6.การบริหารจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ