มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะเภสัชศาสตร์ โชว์ความสำเร็จหลังได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “สถาบันตัวอย่าง” ด้านการเรียนการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ที่จัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่าน 5 เกณฑ์มาตรฐาน เพื่อสร้างผู้ประกอบอาชีพเภสัชกรรมที่ปฏิบัติงานด้านปรุงยา จ่ายยาและสิ่งที่เกี่ยวข้องตามใบสั่งของแพทย์ สร้างความปลอดภัยในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับประชาชน
ผศ.ดร.ณัฐาศิริ ฐานะวุฑฒ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของม.อ. ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ที่เป็นเลิศทางวิชาการและเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาภาคใต้และประเทศในทุกมิติ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเพื่อสร้างผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญด้านยา ผ่านการเรียนการสอนโดยใช้ยาอย่างสมเหตุผล ล่าสุด คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. จึงได้รับเลือกเป็นสถาบันตัวอย่างดีเด่นที่มีการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จากเครือข่ายด้านการศึกษา 5 วิชาชีพ ได้แก่ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ จัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. ที่ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “สถาบันตัวอย่าง” ต้องผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการศึกษาตัวอย่าง 5 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบาย ที่มีแนวทางปฏิบัติและการติดตามการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อส่งแสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งทางคณะได้นำหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษาทั้ง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
2.การกำหนดให้การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นผลการเรียนรู้ (Learning outcome) หรือสมรรถนะ (Competence) หนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษา และได้จัดการเรียนการสอนนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตรทั้งในระดับปรีคลินิกและระดับคลินิก โดยคณะเภสัชศาสตร์ได้จัดการสอนที่นำหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยสอดแทรกให้แก่นักศึกษาในชั้นปีต่างๆ ตลอดระยะเวลาของหลักสูตร พร้อมสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในกลุ่มวิชาเภสัชกรรมบำบัด (Pharmacotherapy) และเภสัชกรรมจ่ายยา (Dispensing pharmacy) และกลุ่มวิชาสารสนเทศทางยา และประยุกต์ใช้ (Drug information) ผศ.ดร.สุทธิพร ภัทรชยากุล คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ม.อ. ยังได้จัดบรรยาย Active Learning, Problem-based pharmacotherapy และการสอนในลักษณะของสหวิชาชีพ (interprofessional education; IPE) และแบบ IPE (PSU Model) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา ให้กับนักศึกษาเภสัช ชั้นปีที่ 5 นักศึกษาแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 6 และนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ทำให้ผ่านเกณฑ์ที่ 3 ด้านการจัดการเรียนการสอน ที่เน้น Active Learning และลักษณะของ Problem-based pharmacotherapy ตลอดจนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของสหวิชาชีพ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
ส่วนเกณฑ์ที่ 4. การพัฒนาอาจารย์เกี่ยวกับการสอนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยอาจารย์ต้องเข้ารับการอบรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 5.การประเมินสมรรถนะด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษา อาทิ ประเมินสมรรถนะด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาในปี 2562 และ 2564 โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาหลักสูตรและความปลอดภัยของผู้ป่วยในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ ประเมินภาพรวมของคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน
“การได้รับคัดเลือกเป็นสถาบันตัวอย่าง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. ที่ร่วมพัฒนาการเรียนและสอนให้กับนักศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพเภสัชกรรม ที่ปฏิบัติงานด้านปรุงยา จ่ายยาและสิ่งที่เกี่ยวข้องตามใบสั่งหรือจัดระเบียบควบคุมรักษายาในคลัง และแนะนำคนไข้ในการใช้ยา เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ” ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าว
Post Views: 372